วันนี้ (30 พ.ค.2563) นายมะหมัดนี ซัมบิลังโหลด นายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล ลงล่องเรือรอบคลองน้ำเค็มบ้านเจ๊ะบิลัง หลังเกิดกรณีฉลามกัดเท้าซ้ายของเด็กวัย 12 ขวบในพื้นที่ ม.2 ต.เจ๊ะบิลัง ขณะนั่งห้อยขาเล่นน้ำ กับเพื่อนที่คลองจนเกิดบาดแผลฉกรรจ์เย็บร่วม 50 เข็ม ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้วแต่ต้องล้างแผลทุกวัน
ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจ.สตูลยืนยันว่าเป็นบาดแผลรอยฟันฉลามจริง โดยกัดลึกถึงกระดูก ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้วแต่ต้องล้างแผลทุกวันหลังเย็บแผลร่วม 50 เข็ม
นายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง กล่าวว่า หลังจากนี้ทางเทศบาลตำบลเจ๊ะบิลัง จะติดป้ายห้ามเด็กเล่นน้ำในช่วงนี้ทั้งที่ผ่านมาตลอดอยู่ในพื้นที่ 40 ปีไม่เคยเจอเหตุการณ์ฉลามกัด หรือทำร้ายชาวบ้านมาก่อนจะ
หากชาวบ้านคนไหนวางอวน หรือจับฉลามมาได้ตัวเป็นๆในบริเวณคลองเจ๊ะบิลัง ตั้งแต่จุดท่าเรือโลมาจนมาถึงท่าเรืออบจ.สตูลจุดที่เด็กถูกฉลามกัดพร้อมจ่ายเงินให้ทันทีตัวละ 1,000 บาท
ชาวบ้านริมคลองเจ๊ะบิลัง หลายคนยอมรับว่า เป็นห่วงเด็กๆ จะลงไปเล่นน้ำ และถูกฉลามกัด ทำให้เด็กพากันหวาดกลัว หยุดเล่นมา 2 วันเกิดเหตุแล้ว ส่วนแนวทางแก้ปัญหาก็อยากให้มาช่วยกันจับหรือทำป้ายเตือน เพื่อให้ทุกคนเพิ่มความระมัดระวังขณะใช้เรือหรือเด็กลงไปในน้ำ
นางฝาตีม๊ะ สลิมีน กล่าวว่า อยากให้เจ้าหน้าที่มาช่วยกันจับ เพราะกลัวบุตรหลานจะลงไปด้วยรู้เท่าไม่ถึงกาณ์รแม้บางคนไม่เชื่อว่าเป็นฉลาม แต่เชื่อหลานเพราะเขาเห็นตัวเป็นๆ
ตั้งค่าหัวฉลาม-ไม่ผิดเหตุไม่ใช้สัตว์คุ้มครอง
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยารกทางทะเและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า กรณีฉลามกัดเด็กที่สตูล ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นฉลามหัวบาตร แต่ลักษณะนิสัยของฉลามชนิดนี้ไม่ได้ดุร้าย หรือไล่ล่า แต่ที่กัดขาเด็กน่าจะเกิดจากความตกใจ เหมือนกับเคสที่เคยมีฉลามหัวบาตรกัดฝรั่งในพื้นที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือกับทางท้องถิ่น ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าอย่าไปไล่ล่าฉลาม ทั้งเพื่อลดความกลัวหรือนำมาบริโภค เพราะว่ามันเป็นอุบัติเหตุในท้องทะเล ฉลามไม่ได้จ้องกัดคน
ไม่อยากให้ตั้งรางวัลล่าฉลาม เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีการขึ้นบัญชีฉลามทุกสายพันธุ์เข้าในบัญชีสัตว์คุ้มครอง ทำให้การล่าหรือนำมาบริโภค จึงยังไม่มีความผิดตามกฎหมาย
นายโสภณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ทช.ได้มีการตั้งทีมในการศึกษาวิจัยฉลาม เพื่อเตรียมผลักดันให้เป็นสัตว์ทะเลคุ้มครองเพิ่มเติม เนื่องจากพบว่าในช่วงหลายปีมีการล่าฉลาม และนำมาวางโชว์ขายในร้านอาหารทางทะเล ดังนั้นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าทช.ต้องเร่งผลักดันให้มีการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์คุ้มครอง
ทช.จับตามาหลายปี พบดัชนีแนวโน้มที่จะสุ่มเสี่ยงตอการสูญพันธุ์ก็ต้องเร่งผลักดันให้เป็นสัตว์คุ้มครอง ซึ่งที่ผ่านมาในรอบหลายปีเพิ่งมีการขึ้นบัญชีฉลามวาฬ วาฬโอมุระ เต่ามะเฟืองและพะยูน เป็นสัตว์สงวน
โดยเฉพาะการแพร่กระจายของปลาฉลามหัวบาตร (Bull shark: Carcharhinus leucas) ซึ่งพบมากบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ปากแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เเละบริเวณแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเเละเเหล่งอาหารของปลาฉลามหัวบาตรวัยอ่อน
นักวิชาการ ระบุฟันรอยแผล "ฉลามหัวบาตร" กัดเด็ก
เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.) นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า มีข่าวเด็กไปเล่นน้ำแถวท่าเรือเจ๊ะบิลัง สตูล จากนั้นโดนปลากัด ดูจากบาดแผลมีรอยเป็นฟัน 3 เหลี่ยม คิดว่าเป็นฉลามครับ แต่ขนาดไม่ใหญ่มากพื้นที่แถวนั้นเป็นหาดเลนและป่าเลน น้ำขุ่น ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เด็กๆ แถวนั้นอาจมาเล่นกัน
บางทีแถวปากน้ำอาจมีฉลามเข้ามาหากิน หากให้ระบุชนิด อาจเป็นลูกฉลามหัวบาตร (bull shark) เพราะชอบเข้าน้ำกร่อย/ปากแม่น้ำ (แน่นอนว่ามีสิทธิเป็นชนิดอื่น แต่น่าจะตัวนี้ครับ)
ข่าวฉลามกัดคนมีมาก 1-2 ปีหน ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกัน ฉลามขนาดไม่ใหญ่ กัดที่เท้า และไม่ได้ตั้งใจล่า แต่เป็นการเข้าใจผิด เมื่องับแล้วรู้ว่าไม่ใช่เหยื่อก็ว่ายหนีไป ข้อควรระวังคงทำยาก แต่แนะนำว่าไม่ควรเล่นน้ำกลางคืนหรือโพล้เพล้ ระวังอย่าเล่นช่วงน้ำขึ้น
ช่วงนี้ระวังไว้นิด แต่เท่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข่าวว่าฉลามกัดซ้ำที่เดิมก็คงระวังกันไว้หน่อย แต่ไม่ต้องล่าพวกเขาหรอกครับ เขาไม่ตั้งใจ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยืนยันรอยแผลนักท่องเที่ยว ถูก "ฉลามหัวบาตร" งับ
ระทึก "ฉลามกัด" นักท่องเที่ยวเล่นเซิร์ฟบอร์ดหาดกมลา จ.ภูเก็ต