การทำงานของตำรวจชุดสืบสวนที่จำเป็นต้องเข้าจับผู้ต้องหาในระยะประชิดตัว โดยมีเพียงเสื้อเกราะป้องกันอาวุธที่อาจจะถูกทำร้ายจากผู้ต้องหา เป็นภาพในอดีตที่หลายคนคงเคยพบเห็น และเป็นหน้าที่ที่ตำรวจเหล่านี้ต้องปฏิบัติอยู่เกือบทุกวัน
หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาด หน่วยงานด้านสาธารสุขรณรงค์ให้ทุกคนต้องระมัดระวังตัวเอง ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่และติดเชื้อ แต่ตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่กับบุคคลแปลกหน้า หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะปฏิบัติตัวดังกล่าว จึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายทันที
การตั้งแผ่นพลาสติกใสที่โต๊ะรับแจ้งความ และการเว้นระยะห่างในสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เป็นการรับมือที่ดีสำหรับในสถานี แต่ตำรวจที่ยังต้องลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เห็นว่ายังต้องมีแนวปฏิบัติในตรงกันทั่วประเทศ
ศ.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) เห็นว่าควรจัดผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ดูแลทั้งสวัสดิภาพและสวัสดิการให้ตำรวจ เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงานแล้ว ตำรวจยังอาจนำเชื้อไปติดกับครอบครัวได้ และด้วยที่พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นแฟลตต้องอยู่รวมกันทั้งเพื่อนร่วมงานและครอบครัว จึงอาจเป็นส่วนในการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานของตำรวจทั้งระบบ โดยเฉพาะใช้ระบบเทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อให้ลดการสัมผัสกับตัวผู้ต้องหา ที่ผ่านมามีตำรวจติดเชื้อ COVID-19 แล้วหลายคน แต่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่การติดเชื้อมาจากกิจกรรมส่วนตัวนอกเหนืองานตำรวจ เช่น การไปสนามมวย ไปร่วมรับประทานอาหารกับกลุ่มเพื่อน
การจับตัวผู้ต้องสงสัย เช่น นักพนัน ที่ผ่านมาตำรวจไม่เคยใช้ถุงมือ แต่อาจปรับเป็นอุปกรณ์หนึ่งของการทำงานก็ได้