ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิษ COVID-19 คนรายได้น้อยแห่พึ่งเงินกู้นอกระบบ

ภูมิภาค
23 เม.ย. 63
21:13
6,089
Logo Thai PBS
พิษ COVID-19 คนรายได้น้อยแห่พึ่งเงินกู้นอกระบบ
การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนรายได้น้อย อย่างกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาเงินนอกระบบ เพื่อนำมาหมุนเวียนธุรกิจ หลังยอดขายลดลง ขณะที่เกษตรกรต้องใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน เพื่อกู้เงินมาให้ลูกหลานที่ตกงาน

บ่ายวันหนึ่งกลางเดือนเมษายน (22 เม.ย. 63) ที่ร้อนระอุ ทีมข่าวไทยพีบีเอสนัดพูดคุยข้อมูลกับ ผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ คนหนึ่ง เขาเป็นแหล่งข่าวที่อยู่ในแวดวงหนี้นอกระบบมาก่อน จึงสามารถอธิบาย หรือฉายภาพสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของพี่น้องคนอีสานในขณะนี้ ได้ชัดเจน

เขาบอกกับเราเสมอว่า

แม้จะผ่านการผ่าตัดใหญ่ในยุค “บิ๊กโจ๊ก” แต่เงินกู้นอกระบบไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แค่ปรับเปลี่ยนฉากหน้า และปฏิบัติการให้แยบยล เจ้าหนี้ยังคงอยู่ร่วมกับลูกหนี้อย่างกลมกลืน

ในยุคที่เศรษฐกิจดิ่งลงเหว เพราะโควิด-19 ซ้ำเติม คนรายได้น้อยหันหน้าเข้าหาเงินกู้นอกระบบเพิ่มมากขึ้น

เครือข่ายผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ภาคอีสาน ให้ข้อมูลว่า เดือนมีนาคม-เมษายน มีผู้มายื่นกู้เพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 50 แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ทั้งหมด หลายคนจึงกลับไปใช้บริการเงินกู้นอกระบบ

ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าหลักของเจ้าหนี้นอกระบบ คือ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ซึ่งในตลาด 1 แห่ง มีเจ้าหนี้ให้เลือกไม่ต่ำกว่า 10 ราย แม่ค้าบางคนบอกกับเราว่า เธอเคยกู้กับเจ้าหนี้ถึง 10 ราย และต้องหาเงินจ่ายดอกแต่ละวันหลายพันบาท

การกู้เงินนอกระบบ มีการปรับตัวโดยให้แม่ค้าพ่อค้าในตลาดเดียวกัน จับกลุ่มค้ำให้กัน 3 คน ถ้าใครไม่จ่าย คนค้ำต้องจ่ายแทน

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า การทวงหนี้โหด ยังคงมีอยู่ แม้ไม่รุนแรงเหมือนอดีต แต่ก็ยังมีการข่มขู่ เจ้าหนี้จะเลือกใช้คนทวงหนี้จากต่างจังหวัด เมื่อก่อเหตุก็หลบออกจากพื้นที่ ตามจับไม่ได้ และสาวไปไม่ถึงเจ้าของเงินกู้ที่แท้จริง

ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สอบถามประเด็นปัญหาหนี้นอกระบบ ของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด แม่ค้าหลายคนยอมรับว่า จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 บาท ต่อเดือน เพื่อนำมาซื้อของขาย

หลังในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายอาหารลดลงกว่าครึ่ง รายได้ลดน้อยลง ภาระค่าใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ จึงต้องหาเงินทุนก้อนใหม่มาลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรถึงจะมีรายได้มากพอจนไม่ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ เมื่อยังหาอาชีพอื่นไม่ได้ ก็ต้องค้าขาย และอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะที่บางคนได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท ก็นำเงินมาใช้หนี้นอกระบบ เพื่อแบ่งเบาภาระ ที่ต้องหาเงินจ่ายเจ้าหนี้ทุกวัน

เราได้ข้อมูลจากเครือข่ายอดีตเจ้าหนี้นอกระบบ ที่หันมาปล่อยกู้ถูกกฎหมาย หรือ เป็นผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ข้อมูลนี้สะท้อนประเด็นสำคัญ คือ เกษตรกรกำลังกู้เงินทั้งในและนอกระบบเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ใช้นำไปลงทุนเพาะปลูก เพราะส่วนใหญ่จะนำโฉนดที่ดินมาค้ำประกันเพื่อกู้เงินไปให้ลูกหลานที่ตกงานในช่วงนี้

คนแก่กู้เงินให้คนหนุ่มสาว ชาวนาเอาโฉนดมากู้เงินให้ลูกที่ไม่มีงานทำ แต่ลูกต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และจ่ายค่าเทอมหลาน นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ

ท้ายที่สุด คนที่มีรายได้น้อย ยังไม่เจอทางออกของปัญหาเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ระบาด มาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ อย่างเงิน 5 พันบาท และมาตรการอื่นๆที่จะตามมา ถือเป็นความหวังของพวกเขา หลายคนเรียกร้อง ให้การเยียวยานี้กระจายทั่วถึงทุกครอบครัวที่ประสบปัญหา

แต่บางคนหลายคนก็บ่นน้อยใจ ที่ระบบคัดเลือกคนให้ได้รับเงินเหมือนจะไม่เป็นธรรม ขณะที่หลายคนก็ตั้งคำถามว่าแนวทางแจกเงินของรัฐบาล จะแก้ไขปัญหาได้เพียงใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือคนจนจะเพิ่มมากขึ้น คนที่เดือดร้อนจะเดือดร้อนมากขึ้น หากไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

                                      

                 เรื่องโดย..พลอยไพฑูรย์ ธุระพันธ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง