วันนี้ (13 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 28 คนยอดสะสม 2,579 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวมเสียชีวิตสะสม 40 คน หายป่วยเพิ่มอีก 70 คน โดยตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลงต่อเนื่องในรอบ 3 สัปดาห์ และมีผู้ติดเชื้อรวม 69 จังหวัดแล้ว
สำหรับผู้เสียชีวิต คนแรกเป็นชายไทยอายุ 56 ปี สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ เข้าโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย ต่อมาวันที่ 23 มี.ค. ผู้ป่วยมีอาการป่วยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต 12 เม.ย.ที่ผานมา ส่วนอีกคน ชายไทยอายุ 43 ปี พนักงานบริษัท มีโรคเบาหวานและไตวายเรื้อรัง เริ่มป่วย 23 มี.ค.ด้วยอาการไข้สูง ไอ น้ำมูก เข้า รพ. วันที่ 31 มี.ค. ต่อมา 5 เม.ย. พบว่าปอดติดเชื้อ และเสียชีวิต 11 เม.ย.
ขณะที่ผู้ป่วยใหม่อีก 28 คน ยังเป็นกลุ่มได้สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 18 คน กลุ่มคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 คน ไปสถานที่ชุมชน 1 คน อาชีพเสี่ยง 2 คน และบุคลากรทางการแพทย์ 3 คน
ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 80 คน โดย 50% ติดเชื้อในโรงพยาบาล และอีกส่วนหนึ่งติดจากชุมชน 18 คน อยู่ระหว่างสอบสวนอีก 12 คน
คนไทยกลับอินโดนีเซียติดเชื้อรวม 61 คน
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในภาพรวมอัตราป่วยพบว่า กทม. มากที่สุด 1,306 คน ภูเก็ต 182 คน นนทบุรี 150 คน แต่อัตราผู้ป่วยต่อประชากรแสนคน พบว่า ภูเก็ต ยังมากที่สุด 44.03 ส่วนผู้ป่วยใหม่ในวันนี้ พบว่า กทม.มากที่สุด 12 คน รองลงมาภูเก็ต 6 คน
ปัญหาการติดเชื้อยังมาจากการติดจากในบ้าน และคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยกลับจากอินโดนีเซีย พบว่าป่วย COVID-19 สะสม 61 คน ตั้งแต่ 8-13 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขผู้ป่วยในอินโดนีเซีย ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ถ้ารวมจากวันแรกที่เข้ามาถึงไทย พบติดเชื้อ 42 คน จนถึงวันนี้ก็ยังเจอเพิ่มอีก 3 คน เป็นความห่วงใยพี่น้องชาวมุสลิม
ขณะที่ยังมีอีก 9 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 คือ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง
"ภูเก็ต" แซงหน้าอัตราป่วยเพิ่ม-เร่งค้นหาคนป่วย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า น่าเป็นห่วงว่า จ.ภูเก็ต ยังมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มจากวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา เจอผู้ป่วยเพียง 1 คน จนถึงตอนนี้กราฟชันสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลากว่า 1 เดือน จนกระทั่งวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เริ่มค้นหาผู้ป่วยเชิงลึก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสถานบันเทิง 71 คน สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 33 คน และอาชีพเสี่ยง 33 คน
ส่วนหนึ่งพบว่าผู้ป่วย 50% มาตรวจหลังจากมีอาการใน 3 วัน จนอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อกับผู้อื่น ซึ่งสถิติพบว่ามาตรวจภายในวันเดียว 22.69% มาตรวจภายใน 3 วัน 22.69% มาตรวจภายใน 7 วัน 26.89% และมาตรวจหลัง 7 วัน 27.73%
มีคำถามว่าทำไมหลังจากภูเก็ตมีการปิดสถานบันเทิง การท่องเที่ยว ซอยบางลา นวดแผนไทย ปิดโรมแรม และปิดพื้นที่ป่าตอง ห้ามการเข้า-ออก แต่ทำไมตัวเลขไม่ลดลง เพราะส่วนใหญ่อาชีพเสี่ยง และสัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ
ขณะนี้ภูเก็ตได้เริ่มสแกนหาผู้ที่มีอาชีพเสี่ยงในภูเก็ต เช่น กลุ่มสถานบันเทิง กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ และมีอีกหลายกลุ่ม เพราะรูปแบบเป็นการติดกันภายในตัวจังหวัด
นายกรัฐมนตรี กำชับช่วยเยียวยาทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมศูนย์และให้นโยบายการจัดการควบคุมโรคควบคู่กับการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นการคำนวณเรื่องตัวเลขจีดีพี ซึ่งได้เห็นว่ามีขนาดของปัญหามีมาก กำชับให้คุมทุกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ และมีการอัพเดตมาตรการ 7 ด้าน ทั้งสาธารณสุขการรองรับเตียง เวชภัณฑ์ มั่นใจว่าเพียงพอรองรับสถานการณ์