ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตั้ง 9 ด่านล้อม “เมืองสิงห์” ผู้ว่าฯ เผยเคล็ดลับ ระวังไม่ให้ “ไข่แตก”

สังคม
12 เม.ย. 63
12:59
3,061
Logo Thai PBS
ตั้ง 9 ด่านล้อม “เมืองสิงห์” ผู้ว่าฯ เผยเคล็ดลับ ระวังไม่ให้ “ไข่แตก”
ผู้ว่าฯสิงห์บุรี เปิดมาตรการป้องกันจังหวัดสิงห์บุรีเน้นคัดกรองเข้มงวด ปิดจุดอ่อนรอยต่อกับจังหวัดโดยรอบ เดินหน้ามาตรการปิดบ้านไม่รับแขกลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ

วันนี้ (12 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นานกว่า 4 เดือน หลายจังหวัดในไทยพบผู้ติดเชื้อกันอย่างตัวเนื่องโดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อพบมากขึ้นจนแทบครบทุกจังหวัด

 

จากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่พบว่า มี 9 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID -19 โดยเฉพาะ 3 จังหวัดภาคกลาง อย่าง จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท และ จ.อ่างทอง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ถึงแนวทางการดูแลพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID -19 

เข้มคัดกรองเข้มงวด ใช้มาตรการเบา-หนัก

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า มาตรการรับมือได้เตรียมการตั้งแต่ทราบข่าวว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID -19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน รวมถึงมาตรการรับมือของประเทศต่าง ๆ และบทเรียนจากประเทศที่มีการระบาดรุนแรงอย่างประเทศอิตาลี ซึ่งภาพรวมในการรับมือก็คล้ายกับจังหวัดอื่น ๆ โดยเน้นการคัดกรองที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในจังหวัด เนื่องจาก จ.สิงห์บุรี มีผู้สูงอายุประมาณ 50,000 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

 

ความเข้มงวดจะเน้นการคัดกรองสอบสวนโรค และไม่ให้บุคคลเข้ามาในจังหวัด หากพบกลุ่มเสี่ยงจะเข้าสู่การกักกันโรคเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นจะเน้นมาตรการ Stay At Home ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย แจ้งลูกหลานว่ายังไม่ต้องกลับบ้าน และรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากาก พกเจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ รวมถึงข้าราชการและเอกชนก็เป็นตัวอย่างในการดำเนินมาตรการ Social Distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) และงดการรวมตัว ด้วยการประชุมให้น้อย เน้นการประชุมออนไลน์แทน

จากนั้นใช้มาตรการล็อกดาวน์ เริ่มจากสถานบันเทิง เวทีมวย สถานที่ที่มีการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก รวมถึงกวดขันจับกุมบ่อนการพนันอย่างเข้มงวดและมีการติดตามว่า ดำเนินการตามมาตรการจริงหรือไม่ หากไม่พบปฏิบัติตามก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จากนั้นได้มีการขยายการปิดไปยังร้านอาหารโดยปิดเฉพาะส่วนที่ยังสามารถให้ประชาชนมาซื้อของได้ แต่ต้องใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม

"การล็อกดาวน์เมืองบางส่วนก็เพื่อให้ทุกคนอยู่บ้าน หากอยู่บ้านก็สามารถป้องกันการติดต่อของโรคได้ จุดสำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งได้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะชาวสิงห์บุรีสวมหน้ากาก 100 %"

จากนั้นมีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) ก็ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดในการตรวจรถทุกคัน วัดอุณหภูมิคัดกรองโรคทุกคนโดยเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจตลอด 24 ชั่วโมง

คนสิงห์บุรีบอกกับผมว่า ผู้ว่าฯปิดจังหวัดได้เลย แต่ผมบอกว่าหากเรามีวินัย ก็ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น ซึ่งทุกฝ่ายก็ร่วมมือกันเป็นอย่างดี ขณะที่มาตรการเคอร์ฟิวอาจมีบางส่วนที่ฝ่าฝืนแต่ก็มาจากการที่ยังปรับตัวไม่ได้ ซึ่งต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกันต่อไป

ขณะที่ตัวเลขของผู้ที่กักกันโรคเป็นเวลา 14 วัน มีกว่า 3,000 คน ซึ่งขณะนี้กลับบ้านไปแล้วครึ่งหนึ่งโดยทางจังหวัดจะออกหนังสือรับรองให้ติดตัว และเมื่อกลับไปบ้านคนในบ้านและในชุมชน จะมีความมั่นใจและไม่รังเกียจ

วัดร่วมใจงดกิจกรรม-วิปัสสนา

นายชำนาญวิทย์ยังระบุว่า นอกจากนี้ความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่สำคัญก็คือ เจ้าคณะจังหวัดและพระสงฆ์วัดต่าง ๆ ใน จ.สิงห์บุรี เนื่องจาก จ.สิงห์บุรี มีวัดเป็นจำนวนมากซึ่งวัดทุกแห่งก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ก่อนที่ทางจังหวัดจะร้องขอด้วยซ้ำ โดยวัดอัมพวัน ซึ่งเป็นสถานที่วิปัสสนาสำคัญ และมีผู้มาร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากก็ได้งดกิจกรรมทั้งหมด รวมไปถึงวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร วัดโพธิ์เก้าต้น อ.ค่ายบางระจัน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ก็งดจัดกิจกรรมด้วยเช่นกัน

ที่ทำอยู่คือการตัดขา COVID -19 เพราะเป็นโรคติดต่อจึงพยายามไม่ให้คนติดต่อกัน เมื่อทำได้ก็ลดการแพร่ระบาดได้

9 ด่านสกัดรอยต่อจังหวัดโดยรอบ

ผู้ว่าฯสิงห์บุรี ยังระบุว่า ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ จ.สิงห์บุรี แวดล้อมด้วยหลายจังหวัด เนื่องจากมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 และการติดต่อกับ จ.สุพรรณบุรี จ.ชัยนาท จ.ลพบุรี จ.อ่างทอง ซึ่งในส่วนรอยต่อกับ จังหวัดอื่น ๆ จะมีการจุดสกัด 7 จุด และด่านตรวจ 2 ด่าน ที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ แพทย์ ในการดูแลและคัดกรองตลอด 24 ชั่วโมง

 

ปิดบ้านไม่รับแขก

ขณะที่มาตรการต่อไปที่จะดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ มาตรการ “ปิดบ้านไม่รับแขก” ด้วยการให้แต่ละบ้านบอกกับญาติหรือลูกหลานหรือคนอื่น ๆ ไม่ให้มาเยี่ยมที่บ้าน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และลดยอดกลุ่มที่ต้องระวังลง

 

ขณะที่กลุ่มอ่อนไหว ในขณะนี้คือ กลุ่มประชาชนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ที่จะจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า กลับมาจากประเทศใด เมื่อไหร่ และกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และหากมีก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองสอบสวนโรคไปจนถึงการกักกันโรค เป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

จ.สิงห์บุรี จะไข่แตกหรือไม่ ไม่ได้กังวล แต่จุดอ่อนไหวก็คือ กลุ่มคนที่เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งต้องจับตาดู และหากกลับมาต้องป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ การเฝ้าระวังจากภายในพื้นที่ก็สำคัญ  หากมีผู้เดินทางเขาพื้นที่หรือกลับมาจากพื้นที่อื่นจะใช้แอปพลิเคชันในการติดตามว่า ยังอยู่ในพื้นที่หรือเดินทางไปจุดใดบ้าง กรณีผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนจะใช้การสอดส่องดูแลโดย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยกันสังเกตและรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีของผู้ที่เดินทางเข้าพื้นที่และผู้ที่ต้องกักกันโรคอยู่บ้าน แต่ภาพรวมทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

คนสิงห์บุรีมีเลือดของวีรชน ที่พร้อมปกป้องแผ่นดิน ปกป้องบ้านเมือง การต่อสู้กับ ไวรัส COVID- 19 ที่สามารถรับมือได้อย่างดีก็เพราะความร่วมมือจากประชาชน เอกชนและข้าราชการ

ภาคประชาชนร่วมป้องเมือง “สิงห์บุรี”

 

 

ขณะที่ ความร่วมมือจากภาคประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะความร่วมมือจากภาคประชาชนตามที่ นายธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์ ผู้ประสานงาน ศูนย์ป้องกันโควิดภาคประชาชน จ.สิงห์บุรี City Lion No COVID Center กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า จากข้อมูลพบว่า จ.สิงห์บุรี เป็นจังหวัดที่มีความเปราะบางสูงเนื่องจากมีตัวเลขของผู้สูงอายุค่อนข้างมาก จึงเริ่มจัดตั้งศูนย์ป้องกันโควิด ภาคประชาชน จ.สิงห์บุรี ขึ้นมา ซึ่งเป็นการทำงานภาคประชาชนโดยเน้นการให้ความรู้และประสานความช่วยเหลือไปยังภาคส่วนต่างๆ ไปให้ถึงผู้ที่ต้องการโดยตรง รวมถึงการเฝ้าระวังพื้นที่ทีมีความเสี่ยงในการที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 

"ทราบดีว่าการต่อสู้กับไวรัส COVID-19 ภาครัฐ หรือ ข้าราชการจะทำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ภาคประชาชนก็มีพลัง แต่ขาดทิศทางและความชัดเจนในการขับเคลื่อนการช่วยเหลือและผู้ออกแบบระบบในการกระจายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ต่าง ๆ"

การทำหน้าที่ของศูนย์จะเป็นเพียงตัวกลางในการประสานระหว่างผู้ให้และผู้รับ ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด และจัดทำข้อมูลในพื้นที่ 6 อำเภอ และ โรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อที่จะกระจายสิ่งของที่จำเป็นไปยังหน่วยงานต่าง ๆ บางครั้งผู้ให้และผู้รับอาจจะไม่ต้องพบกันก็ได้ เพียงแต่สิ่งของที่จำเป็นจะต้องถูกกระจายไปยังส่วนที่ต้องการอย่างเหมาะสม และรายงานข้อมูลการให้และรับกลับมายังไลน์กรุ๊ปของศูนย์ฯเพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง

"ประสบการณ์จากกรณีน้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้ทราบว่ามีสิ่งของที่ถูกบริจาคเป็นจำนวนมากถูกกองไว้ริมถนน แต่ไม่สามารถกระจายไปยังคนที่อยู่ห่างไกลได้ ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน จึงเน้นการกระจายสิ่งของและความช่วยเหลือไปยังผู้ที่ด้อยโอกาส และห่างไกล"

คาดการณ์-กระจายความช่วยเหลือ

นายธีรเศรษฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำงานจะเป็นรูปแบบของอาสาสมัคร ส่วนกลางหรือฝ่ายบริหารจะเน้นการทำข้อมูล วิเคราะห์ และคาดการณ์อนาคต และประสานไปยังอาสาสมัครในพื้นที่ต่าง ๆ ทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามความรับผิดชอบและความถนัด

 

รวมถึงการเฝ้าระวังในพื้นที่ถือเป็นภารกิจสำคัญโดยเฉพาะการป้องกันและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ซึ่งเมื่อมีข่าวที่อาจเข้าข่าย Fake news ศูนย์ฯจะตรวจสอบทันทีเพื่อป้องกันความโกลาหล หรือ ตื่นตระหนก หรือเมื่อมีการประกาศคำสั่งใด ๆ ออกมาจากทางภาครัฐ ทางศูนย์ฯจะอ่านและศึกษาเพื่อสามารถอธิบายให้กับประชาชนทราบได้อย่างถูกต้อง

จากนี้ในขั้นต่อไปอาจจะเป็นการสร้างแอปพลิเคชัน ภายใต้แนวคิด Safe Singburi ในการรายงานความเคลื่อนไหวของอาสาสมัครที่ออกช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เพื่อลดการกระจุกตัวและส่งอาสาสมัครไปยังจุดที่ขาด รวมถึงการใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างในการรับ-ส่งอาหารในพื้นที่ รวมถึงการปรับรถพุ่มพ่วงมาช่วยในการขนส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นซึ่งถือเป็นระบบขนส่งที่มีความสำคัญอย่างมากในพื้นที่

 

ทั้งนี้ ศูนย์ฯดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่รวมราว 290 คน โดยจะมีกลุ่มที่วิเคราะห์ข้อมูล บริหารจัดการและประสานส่วนต่าง ๆ จะมีประมาณ 30 คน และในส่วนของฝ่ายบริหารจัดการจะมีราว 6 - 7 คน โดยหนึ่งนั้นเป็นผู้ดูแลมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในพื้นที่จึงสามารถกระจายความช่วยเหลือไปได้ในหลายพื้นที่ขณะที่อีกกว่า 200 คน จะเป็นอาสาสมัครที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ

แต่เดิมเราตั้งเป้าไว้จัดตั้งศูนย์ไว้ 14 วันหรือจะสิ้นสุดวันที่ 15 เม.ย. หรือยืนไว้ให้นานที่สุดจนกว่าจะมีชุดตรวจ Rapid Test ในการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 หรือหากในเร็ววันนี้มีการพบผู้ติดเชื้อก็จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป เพราะภารกิจยังไม่จบ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID -19 จะยังอีกนาน จนกว่าสามารถผลิตยาต้านได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง