วันนี้ (6 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลก พบผู้ป่วย 1,271,999 คน เสียชีวิต 69,405 ราย รักษาหาย 262,486 คน โดยสหรัฐอเมริกา มากกว่า 300,000 คน และเสียชีวิต 9605 คน
ส่วนประเทศไทย วันนี้พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 51 คน ยอดสะสม 2,220 คน หายดีแล้ว 793 คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,907 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 คน รวมเสียชีวิต 26 คน โดยทั้ง 3 คนมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือเกี่ยวข้องสถานที่ที่พบผู้ป่วย
โดยผู้เสียชีวิตคนแรก คนที่ 24 เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 28 ปี พนักงานบริษัทใน กทม. มีประวัติเพื่อนร่วมงานภรรยาติด COVID-19 มีอาการไอ เจ็บ คอ ตรวจพบออกซิเจนลดลง พบติดเชื้อ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา และเสียชีวิตวันเดียวกัน ส่วนที่คนที่ 25 ชายไทย อายุ 51 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว มีภาวะอ้วนและโรคเบาหวาน มีอาการไอ ปวดกล้ามเนื้อ และหนาวสั่น พบปอดอักเสบรุนแรง พบติดเชื้อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาและเสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนคนที่ 26 ผู้ป่วยหญิง 59 ปี อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติเล่นการพนันหลายที่ใน กทม.เริ่มป่วย 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีไข้ และหายใจเหนื่อยหอบ พบปอดอักเสบ และเสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา
ภาพรวมผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน มีโรคประจำตัว แต่น่าสังเกตว่ามีอายุน้อยกว่า 60 ปี โดยคนที่อายุน้อยสุดอายุ 28 ปี
บุคลากรแพทย์ป่วยอีก 13 คน-11 จังหวัดยังเหนียว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยใหม่ 51 คน วันนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยัน 25 คน กระจายไปหลายจังหวัด 22 คน พิธีกรรมทางศาสนาลดลง 3 คน
กลุ่มที่ 2 ไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 19 คน มีบุคลากรการแพทย์ 13 คนโดยอยุ่ในสังกัดโรงพยาบาลเอกชน 11 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเป็นดูแลผู้ป่วยและมีกิจกรรมร่วม เช่น การกินอาหาร ส่วนคนเดินทางกลับจากต่างประเทศลดลง เหลือ 1 คนและกลุ่มที่ 3 รอสอบสวนโรค 7 คน
พบว่ามีผู้ติดเชื้อกระจายไป 66 จังหวัดทั่วไทย และอีก 11 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อและยังตีไม่แตกใน 3 จังหวัดภาคกลางคือสิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท รวมทั้งกำแพงเพชร ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนองและสตูล
กทม.ยังมีผู้ป่วยมากสุด1,051 คน
ส่วนตัวเลขผู้ป่วยสะสมมากที่สุด กทม.ยังมากที่สุด 1,051 คนโดยตัวเลขป่วยของวันนี้จำนวน 27 คน แต่แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม.ลดน้อยลง ขณะที่ต่างจังหวัดยังขึ้นลงอยู่ มีพื้นที่จ.นนทบุรีและภูเก็ต 4 คน ชลบุรี 3 คน สมุทรปราการ ยะลา สุราษฎร์ธานี พัทลุง จังหวัด 2 คน ส่วนปัตตานี ปทุมธานี อุบลราชธานี นราธิวาส สระแก้ว จังหวัดละ 1 คน
สำหรับตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลงวันนี้ 51 คนยังไม่ถือเป็นตัวเลขที่นิ่ง และยังไม่ควรไว้วางใจได้ยังต้องคงมาตรการต่างๆ แต่ยังคงต้องเข้มงวดกับมาตรการต่างๆต่อไป เนื่องจากยังมีผู้ป่วยรอตรวจสอบอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
ในบ้านยังมีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยติดเชื้อใน กทม.ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ม.ค. - 4 เม.ย.นี้ พบว่า การติดเชื้อที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 288 คน เมื่อมีการสอบสวนโรคพบว่า ติดจากการอยู่ร่วมบ้านสูงถึง 102 คน ถือเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็น 35% เมื่อจำแนกเป็นกลุ่มอายุพบว่า 25-59 ปีสูงถึง 69 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 15 คน และอายุ 0-14 ปี 8 คน นอกจากนี้ในกลุ่ม 25-59 ปี พบว่า 50 คนติดจากการร่วมมงาน
ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อในต่างจังหวัด ช่วง ม.ค. - 4 เม.ย. ก็พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด 340 คน ติดจากคนอยู่ร่วมบ้านมากสุด 157 คน หรือคิดเป็น 49% จากทั้งหมด เป็นกลุ่มอายุพบว่า 25-59 ปีสูงถึง 98 คน รองลงมา 15-24 ปี รวม 24 คน อายุ 0-14 ปี 20 คน
เรากำลังต้องดูแลพื้นที่โรคระบาด ซึ่งหลังจากมีการประกาศเคอร์ฟิวมาแล้วถึงวันที่ 4 คนอยู่บ้าน ดังนั้นให้ทุกคนอย่าใกล้ชิดกัน ไม่กอด หอมกันชั่วคราว ออกจากบ้านกลับมาต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน รักษาระยะห่างทางสังคมด้วย
ยังไม่ขยายเวลาเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงให้เวลาปรับตัว
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่าหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งเคอร์ฟิวเริ่ม 3 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อวานนี้ (5 เม.ย.)ยังพบ มีผู้ฝ่าฝืน และออกนอกเคหสถานทั้งประเทศ 919 คน มีการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุม 79 คน ซึ่งมีการตักเตือน 315 คน ดำเนินคดี 708 คดี โดยวันนี้จะเพิ่มจุดตรวจเป็น 953 จุดทั่วประเทศ
ส่วนคำถามที่ในสื่อโซเชียลและถูกแชร์ต่อกันไปว่าจะขยายเวลาเคอร์ฟิวจากเดิมเวลา 22.00 น-04.00 น. เป็น 24 ชั่วโมงในวันที่ 10 เม.ย.นี้นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันยังไม่ประกาศ เพราะถ้าตัวเลขการติดเชื้อใหม่ยังลดลง มาตรการอื่นๆไม่ต้องมี
ถ้าตัวเลขยังเพิ่มแสดงว่ามาตรการยังไม่เพียงพอ ตอนนี้ยืนยันยังไม่เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงยังคงเวลาเดิม 22.00-04.00น.
ทั้งนี้กรณีที่แชร์กันไปอ้างกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อสื่อสารไปยังผู้ว่าราชการ เป็นข้อมูลธรรมดา เรียกว่าเป็นการยกระดับ ซึ่งเป็นการใช้คำที่ถูกต้อง นโยบายนี้ออกมาจากศบค.จะนำปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง แต่ที่เกิดปัญหาเพราะถูกแปลงสื่อสารกันเอง พออ่านเอกสารทางราชการไม่ออก ก็จะเกิดคความตื่นตระหนกไม่เหมาะ และถ้าไม่มั่นใจการประกาศไปสื่อสารผิดแชร์กันไป ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีโทษ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ยังมีการเดินทางกลับเข้าไทย หลังจากนี้จะมีนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS กลับมาจากสหรัฐอเมริกา จำนวนหนึ่ง ซึ่งขออนุญาตไว้ก่อนแล้ว แต่ทางการต้องการทราบว่ามีคนไทยที่ต้องการกลับไทยอีกจำนวนเท่าไหร่ โดยขอให้คนไทยทุกคนที่ต้องการกลับไทย ติดต่อสถานทูตฯหรือสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก เพื่อแจ้งว่าจะเดินทางเข้าไทยวันใด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเตรียมตวามพร้อมในการกักตัวดูอาการต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
หมอเตือน รีบยกระดับ "เคอร์ฟิว" ตัดตอนป่วย COVID-19
มหาดไทยสั่งทุกจังหวัด เตรียมมาตรการรองรับยกระดับ COVID-19