วันนี้ (2 เม.ย.2563) นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำผู้รับจ้างจากบริษัทเอกชนเข้าฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดภายในพื้นที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเริ่มจากบริเวณชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา และพื้นที่ของสำนักบริการทางการแพทย์ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคาร
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอันตราย รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทุกหน่วยงานและรัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด
นายสรศักดิ์ระบุว่า มาตรการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อจากบริษัทเอกชนนั้น ในพื้นที่ทำงานของสื่อมวชนประจำรัฐสภา จะดำเนินการเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ทำมาแล้วจำนวน 1 ครั้ง เพื่อให้พื้นที่ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยจากเชื้อโรคอันตราย และต่อจากนี้จะเข้าฉีดพ่นพื้นที่สำนักบริการทางการแพทย์ของรัฐสภาบริเวณชั้น 2 และห้องปฏิบัติงานของสื่อมวชนสถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ด้วย
และจากนี้ตลอดเดือนเมษายน ทางสำนักบริการทางการแพทย์ มีแผนฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ปฏิบัติงานของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในสำนักต่างๆ เช่น อาคารสำนักงานที่ตึกกษาปณ์ รวมถึงห้องประชุมจันทรา, ห้องประชุมสุริยัน, ห้องประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ด้วย เพื่อให้บุคลากรและสมาชิกรัฐสภา รวมถึงบุคคลที่ปฏิบัติงานภายในอาคารมีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในภาวะการระบาดของไวรัส COVID-19 ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมนั้นมีแผนที่จะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่ห้องประชุมสุริยันอีกรอบก่อนการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้
เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า การว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อนั้น ใช้งบประมาณและราคาตามเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังกำหนดโดยบริษัทที่ว่าจ้างให้มาทดลองฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อนั้น มีราคา 10 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียกบริษัทที่ประกอบธุรกิจทำนองเดียวกัน 5 บริษัท เข้าเสนอราคา แม้จะมีราคาที่ต่ำกว่า เช่น 5 บาทต่อตารางเมตร และบางบริษัทเสนอราคาสูงกว่า คือ 17 บาทต่อตารางเมตร และมีบริษัทที่ใช้ตู้ปล่อยกระแสรังสีอินฟาเรดผ่านตู้
แต่ตัดสินใจเลือกบริษัทที่สร้างความมั่นใจได้มากที่สุดต่อการฆ่าเชื้อโรคอันตรายที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การเลือกบริษัทดังกล่าว เลขาสภาฯยืนยันว่าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้ และล่าสุดมีข้อยกเว้นให้หน่วยงานราชการสามารถคัดเลือก
นายสรศักดิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการคัดกรองบุคคลที่ผ่านเข้าออกพื้นที่อาคารรัฐสภา ยังเป็นไปตามมาตรฐานที่เข้มงวด และทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังมีแนวทางบริหารจัดการเพื่อลดจำนวนบุคลากรหรือผู้ที่ทำงานในพื้นที่จากเดิมวันละหลักพันคนเหลือหลักร้อยคนเพื่อลดความแออัดในพื้นที่