วันนี้ (1 เม.ย.2563) นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุ บนขบวนรถไฟ ขบวนที่ 37 กรุงเทพฯ-สุไหงโกลก เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเสียชีวิตปริศนาบนขบวนรถ จนต้องมีการนำศพลงที่สถานีทับสะแก และประสานแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตว่าจากโรคประจำตัว หรือ เสียชีวิตจาก COVID- 19
อย่างไรก็ตามล่าสุดได้รับรายงานทราบว่า ผู้เสียชีวิตบนขบวนรถนอนผลสรุปเกิดจากโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และพบว่า ผู้เสียชีวิต มีเชื้อโควิด-19 แต่ต้องรอการยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยผู้เสียชีวิตได้ขึ้นรถไฟที่สถานีบางซื่อ ซึ่งขณะที่เดินทางยังมีอาการปกติ แต่ระหว่างทางมีอาหารไอ อาเจียน เมื่อถึงช่วงสถานีหัวหิน เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟได้ประสานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมาตรวจสอบ พบว่ามีอาการไอ และอาเจียนลดลง และตรวจวัดอุณหภูมิได้ที่ 36 องศาเซลเซียส จึงแนะนำให้ผู้เสียชีวิตลงพักรักษาตัวที่หัวหิน แต่ผู้เสียชีวิตต้องการเดินทาง เมื่อถึงบริเวณสถานีทับสะแกพบว่า ผู้โดยสารล้มลงและเสียชีวิตหน้าห้องน้ำ จึงให้ขบวนรถหยุดเพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้ามาตรวจสอบ
เมื่อตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิต เดินทางมาจากปากีสถานและมีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศปากีสถาน
นายฐากูรกล่าวต่อว่า ส่วนผู้โดยสารที่อยู่ในขบวนดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทับสะแก เพื่อเรียกตัวมาตรวจสอบแล้ว โดยวันดังกล่าวมีผู้โดยสารรวมผู้เสียชีวิต 16 คน และการรถไฟฯ ยังได้กักตัว พนักงานตู้นอน และตำรวจรถไฟแล้ว
สำหรับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น การรถไฟฯได้มีการคัดกรองการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนใช้บริการที่สถานีรถไฟทุกครั้ง หากพบอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ขอให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการเดินทาง หากจําเป็นต้องเดินทางขอให้มีใบรับรองแพทย์แสดง และกรอกแบบประเมินและรับรองตนเองเพื่อคัดกรองและยืนยันตนก่อนการเดินทาง
นอกจากนี้ได้ข้อความร่วมมือในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ใช้บริการที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจําตัว และกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ควรงดการเดินทาง เว้นแต่บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีความจําเป็นตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563