วันนี้ ( 1 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ได้เห็นภาพการทำงานของประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้ความร่วมมือ มีการผลิตนวัตกรรมต่างๆ ปรับใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 856,910 คน เสียชีวิตรวม 42,1077 คน รักษาหายแล้ว 177,141 คน ประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 187,340 คน เสียชีวิต 3,860 คน อันดับ 2 คือประเทศอิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 105,792 คน เสียชีวิต 12,428 คน ส่วนประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 35 มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,771 คน
โดยกรุงเทพมหานครมีจำนวนสูงสุด 850 คน รองลงมาคือนนทบุรี 104 คน สมุทรปราการ 72 คน ภูเก็ต 71 คน ชลบุรี 47 คน ยะลา 35 คน ปัตตานี 34 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน เพศชายอายุ 79 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวานและไตวายเรื้อรัง มีประวัติการเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. และเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. และเพศชายอายุ 58 ปี เดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ เริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.และกลับถึงประเทศไทยวันที่ 14 มี.ค. รวมเสียชีวิตทั้งหมด 12 คน
ส่วนแนวโน้มการแพร่ระบาด มีผู้ป่วยใหม่ 120 คน จาก 16 จังหวัด ถือว่าดีขึ้นกว่าวันก่อน แต่ก็ยังไม่น่าพึงพอใจ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังอยู่ระดับร้อยกว่า โดยเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่เสี่ยงสนามมวยสถานบันเทิง 51 คน โดย 43 คน เป็นผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แม้ช่วง 3 ถึง 4 วันนี้ ผู้ติดเชื้อใหม่ในกรุงเทพมหานครและนนทบุรี ดูมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังสูงอยู่ เพราะอัตราการติดเชื้อยังอยู่ที่ 1 ต่อ 3 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล
เบื้องต้นมาตรการปิดสนามมวยที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ ตัวเลขระบาดจากสนามมวยสูงสุด วันที่ 21-22 มี.ค. เริ่มควบคุมการระบาดได้แล้ว ขณะที่มาตรการให้อยู่กับบ้าน แต่กลับพบตัวเลขการติดเชื้อภายในบ้าน เนื่องจากไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จึงทำให้ยอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลง จึงเน้นย้ำว่าแม้อยู่กับบ้านแต่หากมีผู้ร่วมอาศัยด้วย ก็ควรปฏิบัติตน "กินร้อน ช้อนส่วนตัว สวมหน้ากาก" เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่ต่ำกว่า 2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
สถานการณ์เดือนมีนาคม โดยวันที่ 1 มี.ค.จำนวนยังไม่มาก จนถึงวันที่ 27 มี.ค. มีผู้ป่วยกระจายแต่ละจังหวัดเกินกว่าร้อยละ 70 และวันที่ 31 มี.ค. มีการระบาดเกือบทุกจังหวัดแล้ว พร้อมย้ำเป้าหมายว่าต้องให้ความร่วมมือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะได้ผล หากยังให้ความร่วมมือน้อย ไม่มีทางได้ผล
สำหรับมาตรการควบคุมขอความร่วมมือในจังหวัดต่างๆ ที่มีทั้งกฎหมายและด่านตรวจ แต่ก็ยังมีการรวมตัวกันอยู่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ต้องได้รับความร่วมมือของประชาชนถึงจะได้ผล แต่ก็ยังมีร้านขายอาหารบางร้าน ยังนั่งกินกันอยู่และนั่งแบบใกล้ชิดกัน ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ซึ่งอาจมีผลทางกฎหมายด้วย
ส่วนกรณีจะรับนักเรียนแลกเปลี่ยนกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา นพ.ทวีศิลป์ชี้แจงว่า จะปฏิบัติการ เช่นเดียวกับกรณีรับนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศอิตาลี โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพเรือสัตหีบ จะร่วมมือกันให้ความดูแลอย่างใกล้ชิดรวมถึงได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่ออำนวยความสะดวกในการกัดตัวผู้ที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทย
ซึ่งเรื่องนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลนักเรียนนักศึกษา ขอให้ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ AFS International ประสานมาที่กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะได้ทำงานเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนว่า จะมีตารางการบินของแต่ละคนออกมาบ้างแล้ว หากเป็นไปได้ก็อยากจะให้บริหารแบบภาพรวม ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขจะทำงานอย่างใกล้ชิดกันต่อไป
ส่วนสถานการณ์แต่ละพื้นที่ มีการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขกระทรวงสาธารณสุขยังอยู่ประมาณวันละ 100 ถึง 150 คน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่แท้จริง เกิดขึ้นจริงตามการให้การบริการ ส่วนข้อสงสัยว่าเพราะเครื่องมือตรวจเชื้อไม่เพียงพอหรือไม่ ยอมรับว่าช่วงแรกอาจมีความเป็นไปได้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูก ตอนแรกต้องใช้ถึง 2 แลปเพื่อยืนยัน เพราะเชื้อเป็นลักษณะใหม่ วิธีการตรวจก็ใหม่ แต่ขณะนี้มีความเชี่ยวชาญพอสมควรแล้ว กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตรวจได้วันละ 10,000 เคส แต่ก็ขอความร่วมมืออยากให้มาตรวจเฉพาะที่มีอาการหรือกลุ่มเสี่ยง เพราะทรัพยากรมีจำกัด