วันนี้ (1 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า โดยภาพรวมสถานการณ์โลกถือว่าน่ากังวลมีผู้ติดเชื้อกว่า 856,910 คน เสียชีวิต 32,297 คนโดยสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากสุด เพิ่มขึ้นวันเดียว 23,861 คน รวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 187,340 คน
สำหรับประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 35 ของโลกวันนี้ ผู้ป่วยยืนยันเพิ่มอีก 120 คนรวมตัวเลขสะสม 1,771 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวมตัวเลข 12 คน หายป่วยกลับบ้าน 416 คน อาการหนัก 23 คน อยู่โรงพยาบาล 1,343 คน
ยืนยันว่าตัวเลขที่นำมารายงานเป็นตัวเลขจริง เพราะต้องยืนยันการตรวจหาเชื้อ และกทม.ตรวจได้วันละหมื่นเคส และต่างจังหวัดอีกนับพันเคส แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ผลตรวจไม่ติดเชื้อ
เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คนรวม 12 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นผู้ชาย อายุ 79 ปี อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน และไตวายเรื้อรัง มีประวัติเดินทางไปร่วมงานแต่งที่มาเลเซีย จากนั้นเริ่มป่วย 20 มี.ค. และเริ่มรักษา 23 มี.ค.เป็นผู้ป่วยนอก อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 27 มี.ค. เริ่มมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีภาวะปอดอักเสบ จึงเข้ารักษาที่โรงพยาบาล และส่งต่อไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด และเสียชีวิตในวานนี้ (31 มี.ค.) ที่ผ่านมา
ส่วนรายที่ 2 เป็นผู้ชายอายุ 58 ปี อาชีพนักธุรกิจ กลับมาจากอังกฤษ เริ่มป่วยวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา มีไข้ ไอ เสมหะ กลับถึงไทยวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา และรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในวันที่ 15 มี.ค. และเสียชีวิตในเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) โดยกรณีผู้เสียชีวิตคนนี้ยังต้องไปหาเหตุเพิ่มเติมต่อไป เพราะเพิ่งเสียชีวิต แต่ สธ.จะเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลมากกว่านี้
อ่านข่าวเพิ่ม ไม่ล็อกดาวน์ กทม.-ป่วย COVID-19 กระจาย 61 จังหวัด
กทม.กลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อทวีคูณ 3 เท่า
โฆษศบค.กล่าวอีกว่า วันนี้หากดูจากกราฟผู้ป่วยวันนี้ ยังทะยานขึ้นสูงเพราะตัวเลขยังเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย และยังไม่น่าพอใจนัก แต่หากถามว่าดีกว่าวันก่อนไหม ก็ต้องบอกว่าดีกว่า สำหรับผู้ป่วยใหม่ 120 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 51 คน เกี่ยวข้องกับกลุ่มสนามมวย 1 คน เริ่มลดลง แต่ยังมีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ยังทำให้เชื้อกระจายได้อีก ส่วนสถานบันเทิง 11 คน รวมทั้งสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 38 คน งานบุญมาเลเซีย 1 คน
ส่วนกลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่อีก 39 คน จำนวนนี้เป็นคนไทยกลับจากต่างประเทศ 22 คน พิธีกรรมทางศาสนา อินโดนีเซีย 16 คน ต่างชาติมาจากต่างประเทศ 2 คน อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในที่แออัด หรือสัมผัสชาวต่างชาติ 14 คน และบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน รวมบุคลากรทางแพทย์ 25 คน ส่วนกลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 30 คน
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มใหม่ กทม.และนนทบุรี ในช่วง 3-4 วันนี้ เหมือนจะลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าต้นเดือนมี.ค. ส่วนในต่างจังหวัดมีตัวเลขเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยการกระจายตัวของผู้ป่วยกระจายไป 60 จังหวัด
ตัวเลขยังกระจุกตัวอยู่ที่ กทม. 850 คน ยังมีคนที่ใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้อยู่สามารถแพร่เชื้อได้ ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดใน กทม. สามารถเพิ่มขึ้นได้ 3 เท่า ซึ่งตัวเลขนี้น่ากังวลมากๆเพราะหากคำนวณง่ายๆแค่ 1 เท่่าตัวเลขเพิ่มอีกพันคน
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือ รักษาระยะห่างระหว่างทางสังคม Social distancing ซึ่งไม่ได้ทำแค่กับเฉพาะบุคคลภายนอก แต่คนในครอบครัวก็ต้องรักษาระยะห่างกับบุคคลภายในบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด
แค่เดือนเดียว มี.ค.ยอดคนไทยป่วยวิกฤต
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 120 คนใหม่พบใน 16 จังหวัดคือ กทม. 43 คน สมุทรปราการ 23 คน ภูเก็ต 11 คน กระบี่ นนทบุรี ปทุมธานี บุรีรัมย์ สงขลา และชลบุรี 2 คน ฉะเชิงเทรา นครปฐม ศรีสะเกษ สมุทรสาคร สระบุรี หนองบัวลำภู อุบลราชธานี 1 คน และอยู่ระหว่างสอบสวน 24 คนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทำให้มีจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยเลยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า เกิดรายใหม่ขึ้นในช่วงวันที่ 25-31 มี.ค. โดยกระจายไปถึงจังหวัด
1 เดือนที่ผ่านมา นี้ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต หากดูจากแแผนที่ไทยตอนนี้มีแดงเกือบทั้งหมด หากเราไม่ช่วยกันก็จะทำให้สีแดงเปรอะไปทั่วประเทศ ไม่มีที่ไหนว่างเลย
นพ.ทวีศิลป์ ระบุอีกว่า ในช่วง 1 เดือนทางจากแผนที่ของสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบความชัดเจนว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปในจังหวัดต่างๆ โดยช่วงสัปดาห์ที่ 21 มี.ค. และได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เริ่มมากขึ้น 27 มี.ค.มากขึ้นอีก เป็น 60-70% และ 31 มี.ค.และครบ 1 เดือนแดงทั่วประเทศ
สอบเส้นทางเชื่อมโยงคนป่วยส่งผ่านเชื้อ COVID-19
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า โดยเมื่อสอบสวนโรคแล้วพบว่าจงหวัดชุมพร นครพนม พิษณุโลก พะเยา หนองคาย อำนาจเจริญ มุกดาหาร ลำพูน เป็นผู้ป่วยในกลุ่มสถานบันเทิง ที่เดินทางมาจาก กทม.
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่พบในเพชรบุรี อุทัยธานี เป็นการแพร่จากการสัมผผัสผู้ป่วยยืนยันนอกพื้นที่ ในส่วนของแม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ เป็นผู้ที่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ปากีสถานและการ์ตา ส่วนมุกดาหาร เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการสัมผัสเชื่อมาจาก กทม. ขณะที่สุพรรณบุรี เป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยง คือ ร้านเสิรมสวย ทำให้ทางรัฐต้องมีการประกาศปิดร้านหรือสถานที่ต่างๆ เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อได้
ส่วนกรณีปิดสนามมวย ซึ่งเป็นสถานที่แพร่กระจายของเชื้อ ระยะการฟักเชื้อคือ 5-7 วัน ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้ต่อเนื่อง โดยสูงสุดอยู่ที่วันที่ 21-22 มี.ค. แต่เมื่อทุกคนให้ความร่วมมือไม่ไปนสถานที่เสี่ยง ก็ทำให้ตัวเลขลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ เช่น การกักกันผู้กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ยังเป็นไปได้ไม่ดี ตัวเลขยังสูง ส่วนงานบุญมาเลเซีย เมื่อมีการควบคุมต่อเนื่องก็ทำให้ตัวเลขลดลง ตัวเลข 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ลดลง ส่วนการปิดสถานที่ชุมชนหรือลดคน เพื่อลดการป่วยของอาชีพกลุ่มเสี่ยง แต่ยังมีตัวเลขสูงอยู่ ดังนั้น มาตรการการควบคุมคนจากการปิดสถานที่อจต้องเข้มข้นมากขึ้นตามสถิติที่เกิดขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.ส่งถังแดงรองรับหน้ากากใช้แล้วกำจัดถูกวิธี
ชุมชนเมืองใหญ่ สู้ชีวิตจาก COVID-19 ระบาด พ้นจากเศรษฐกิจทรุด