วันนี้ (31 มี.ค.2563) สถานการณ์ COVID-19 ใน จ.ยะลา รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยะลา มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน อายุ 79 ปี มีประวัติการเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยรถตู้โดยสาร
กลับมาเริ่มมีอาการป่วย เมื่อวันที่ 21 มี.ค.63 ข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา เป็นผู้ป่วยนอก เพราะผู้ป่วยไม่ได้แจ้งว่าเดินทางไปประเทศมาเลเซีย จึงรับยาแล้วกลับบ้าน พักรักษาตัวที่บ้านหนึ่งสัปดาห์ แต่อาการไม่ดีขึ้น
จนวันที่ 27 มีค.63 ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา อีกครั้ง เนื่องจากไข้สูง มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีปอดอักเสบ และส่งตัวมายังโรงพยาบาลยะลา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 63 แต่อาการทรุดหนักและเสียชีวิต เมื่อเช้าวันนี้ โดยผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และนับเป็นผู้ป่วยคนที่ 2 ของ จ.ยะลา
ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ใน 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้วันนี้ (31 มี.ค.63 เวลา 11.00 น.) จ.ยะลา ผู้ติดเชื้อ 38 คน เสียชีวิต 2 คน จ.ปัตตานี ผู้ติดเชื้อ 44 คน จ.นราธิวาส ผู้ติดเชื้อ 10 คน เสียชีวิต 1 คน
ขณะที่วันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ได้นำรถแบคโฮเร่งขุดหลุมฝังศพ ที่สุสานในหมู่บ้านกำปงบูเก๊ะ หมู่ที่ 2 ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศูนย์ยะลา และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ร่วมกันจัดพิธีฝังศพตามแนวทางและวิธีการจัดการศพมุสลิม ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของสำนักจุฬาราชมนตรี
แนวทางและวิธีการจัดการศพมุสลิม ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ COVID-19
1. ให้ตะยัมมุมให้แก่ศพ ตามประกาศจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 3/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยวิธีการดังต่อไปนี้
1.1 ให้ผู้ทำตะยัมมุมตั้งเจตนา (เนียต) ว่า "ข้าพเจ้าตั้งใจตะยัมมุมแทนการอาบน้ำให้แก่ศพนี้เพื่ออัลลอฮ์ ตะอาลา" โดยให้เนียตขณะยกฝ่ามือขึ้นหลังจากตบฝุ่นแล้ว
1.2 ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างตบฝุ่นครั้งที่ 1 เพื่อลูบบริเวณใบหน้าศพ
1.3 ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างตบฝุ่นครั้งที่ 2 แล้วใช้ฝ่ามือขวาลูบมือขวาของศพถึงข้อศอก หลังจากนั้นใช้ฝ่ามือซ้ายลูบมือซ้ายของศพจนถึงข้อศอกหรืออย่างน้อยที่สุดลูบให้ถึงข้อมือทั้ง 2 ข้าง
2.หากการสัมผัสศพโดยตรงนั้นไม่ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ทำตะยัมมุม อนุญาตให้ทำตะยัมมุมบนถุงห่อศพโดยไม่ต้องแกะถุงออก และให้ปฏิบัติตามรายละเอียดที่ระบุในข้อที่ 1
3. กรณีผู้ทำตะยัมมุมได้ละหมาดญะนาซะห์ให้แก่ศพแล้ว ให้รีบนำศพไปฝังที่สุสานทันที แต่หากยังมิได้ละหมาดญะนาซะห์ให้แก่ศพ ให้ญาติของผู้เสียชีวิต (เฉพาะญาติใกล้ชิดเท่านั้น) ละหมาดที่สุสาน โดยให้ผู้ร่วมละหมาดป้องกันตนเองโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างระหว่างกัน 2 เมตร ทั้งนี้ ให้ฝังศพผู้เสียชีวิตในท่านอนตะแคงขวาหันหน้าไปทางกิบละห์ (ทิศตะวันตก)
4. กรณีไม่มีบุคลากรหรือแพทย์มุสลิม ขอให้ทางโรงพยาบาลหรือญาติของผู้เสียชีวิตติดต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรืออิหม่ามในพื้นที่ของผู้เสียชีวิต มารับศพไปจัดการละหมาดและฝังทันที โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จนการฝังแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ หากจังหวัดใดไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้โรงพยาบาลหรือญาติของผู้เสียชีวิตติดต่อมายังสำนักจุฬาราชมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 02-9494278, 02-9494288, 02-9494312-3, 094-5535655, 089-6353554 เพื่อประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป (ที่มา : สำนักจุฬาราชมนตรี 29 มีนาคม 2563 )
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ล็อกดาวน์ กทม.-ป่วย COVID-19 กระจาย 61 จังหวัด
ผบ.ตร.เตรียมพร้อม หากมีการประกาศปิดเมือง
ม.อ.ปัตตานี จัดหอพักให้ 57 นศ.ไทย กลับจากปากีสถานกักตัว