วันนี้ (28 มี.ค.2563) ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมเพิ่มเป็น 1,245 คน เสียชีวิต 6 คน โดยผู้ติดเชื้อกระจายไปยัง 57 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเปิดรับบริจาคเงินและเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ต้องการอุปกรณ์อย่าง “เครื่องช่วยหายใจ” และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย, โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระราชินูปถัมภิ์ ขอเชิญชวนบริจาคสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์, โรงพยาบาลแพร่ขอรับบริจาคหน้ากาก N95 ซึ่งคาดการณ์ผู้ป่วย COVID-19 ถึงวันที่ 15 เม.ย.นี้ หากไม่มีมาตรการป้องกัน หรือประชาชนไม่ให้ความร่วมมือเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จะมีผู้ป่วยสะสมถึง 25,225 คน
คนไทยร่วมหนุนนักรบแถวหน้า สู้ COVID-19
ท่ามกลางวิกฤต ยังได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ในการช่วยเหลือ "นักรบ" แถวหน้าอย่าง "แพทย์-พยาบาล" ที่ต้องทำงานบนความเสี่ยงในสมรภูมิโรคระบาด อย่าง "โครงการเพื่อฮีโร่ไทยสู้โควิด 19" ซึ่งเป็นโครงการ ที่จัดหาอุปกรณ์จำเป็นและขาดแคลนให้กับโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) รวมถึงจัดส่งอาหารปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลบำราศนราดูร ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยขอรับบริจาคเงินผ่านบัญชีธนาคาร คนละ 20 บาท และให้บอกต่อไปยังคนที่รู้จักอีก 20 คน โครงการนี้ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ณ วันที่ 30 มี.ค.2563 สร้างยอดบริจาค 30 ล้านแล้ว
โรงพยาบาลศิริราช ตั้งกองทุน “ศิริราชสู้ภัยโควิด” เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ตั้งโครงการเงินบริจาคเพื่อโรค COVID-19
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญชวนบริจาคเงินสมทบทุนช่วยเหลือแพทย์และพยาบาล ในโครงการนักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19 เพื่อจัดหาความคุ้มครองให้แพทย์พยาบาลทั่วประทศ คนละ 5 ล้านบาท
ผลิตเครื่องมือ ลดเสี่ยงแพทย์
ไม่เพียงเฉพาะหน่วยงานต่าง ๆ อาสาสมัครภาคประชาชน ยังช่วยกันแชร์ข้อมูลขั้นตอนการผลิตกล่องป้องกันการกระเด็นของสารคัดหลั่งขณะใส่และถอดท่อหายใจผู้ป่วย และฉากกั้นขณะตรวจเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อ เพื่อขอรับการสนับสนุนและผลิตแจกจ่ายบุคลากรทางแพทย์
อาจรอ 5 เดือน นำเข้า "เครื่องช่วยหายใจ"
ผู้บริหารบริษัทเครื่องมือแพทย์รายใหญ่แห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุว่า ขณะนี้ความต้องการเครื่องมือแพทย์มีสูงมาก โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจที่ใช้ในห้อง ICU ซึ่งโดยทั่วไปแล้วบริษัทจะสั่งออเดอร์เพื่อนำเข้าไทยประมาณปีละ 2,000 เครื่อง แต่ในขณะนี้ทางประเทศต้นทางผลิตไม่ทัน จึงทำให้สินค้าขาดตลาด เพราะของในสต็อกที่สั่งซื้อมาก่อนหน้านี้ก็ขายหมดแล้วเช่นกัน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผลิตไม่ทันมาจาก 2 ปัจจัย คือ ในประเทศผู้ผลิตมีความต้องการใช้สูง โดยประเทศที่ผลิตเครื่องช่วยหายใจที่นำเข้านั้นมีทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี และนำเข้าจากประเทศจีนบางส่วน ซึ่งแต่ละประเทศต่างได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้รัฐบาลขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ช่วยเหลือประชากรในประเทศก่อน และอีกหนึ่งปัจจัย คือ หลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จึงทำให้มีความต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจสูงมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการของผู้บริโภค
บริษัทได้ออเดอร์สินค้าไปแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับว่าจะส่งเครื่องช่วยหายใจมาได้เมื่อไหร่ คาดว่าคงต้องรอไปอีกประมาณ 5 เดือน
ขณะนี้ประเทศไทยยังถือว่ามีเครื่องช่วยหายใจที่ใช้ในห้องไอซียูอยู่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย COVID-19 แต่หลายโรงพยาบาลเริ่มสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือในกรณีที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ป่วย COVID-19 จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่ได้มาตรฐาน เพราะมีอาการปอดอักเสบ โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท ไปจนถึงหลักล้านบาท โดยทางบริษัทพยายามติดต่อผู้ผลิตต่างประเทศอยู่ตลอด เพื่อนำเข้าสินค้าให้ได้ทันตามความต้องการ
ขณะที่พนักงานของบริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ กล่าวว่า สินค้าเครื่องช่วยหายใจหมดสต็อกในช่วงเดือนมีนาคมนี้ และต้องรอออเดอร์ที่ยังไม่แน่ชัดว่านำเข้ามาได้เมื่อใด แต่จะส่งให้กับลูกค้าประจำก่อน ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลสังกัดรัฐบาลและเอกชน โดยลูกค้าที่เป็นแพทย์นั้นทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดและความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์อยู่แล้ว ก็จะสอบถามว่ามีสินค้าในสต็อกบ้างหรือไม่ เชื่อว่าบริษัทนำเข้าเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ของไทย 6-7 แห่ง ก็ไม่มีของในสต็อกแล้วเช่นเดียวกัน
ส่วนผู้ที่รับบริจาคเงินช่วยเหลือบางส่วนได้ติดต่อเข้ามาซื้อสินค้าของบริษัทฯ ก็จะเสนอขายสินค้าอื่นที่มีในสต็อกและโรงพยาบาลต้องการรองลงมา เช่น เครื่องเฝ้าติดตามสัญญาณชีพ
ถึงมีเงินก็ไม่มีของจะขาย จนกว่าจะมีการแจ้งเข้ามา เบื้องต้นบอกให้ลูกค้าที่ต้องการสั่งซื้อเครื่องช่วยหายใจ รออย่างน้อย 180 วัน
เช็คเวชภัณฑ์จำเป็น 18 รายการ
โรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ต้องมีเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในคลังอย่างน้อย 18 รายการ ได้แก่ PPE 12 รายการ เช่น ชุดป้องกันร่างกาย แว่นครอบตาแบบใส หมวกคลุมผม กระบังหน้าเลนส์ใส ถุงมือยาง ถุงสวมขา, หน้ากากอนามัย แบบธรรมดา และ N95 สำหรับป้องกันโรคติดเชื้อ ยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะแอลกอฮอล์เจลขนาดต่าง ๆ ยาต้านไวรัส ที่ใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มอาการต่าง ๆ, อุปกรณ์สิ่งส่งตรวจ เช่น ก้านสำลีและหลอดเก็บตัวอย่างเชื้อ ไปส่งห้องแล็บ รวมถึงห้องปลอดเชื้อประเภทต่างๆ ทั้งห้องแยกเดี่ยว -single isolate room ห้องแยกโรคความดันลบ และ Cohort ward
ทั้งนี้ โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในชนบท หากพบกรณีผู้ติดเชื้อกับกลุ่มสัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะยิ่งมีปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และป้องกันความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 โควิด-19 (โฆษก ศอฉ.โควิด-19) กล่าวถึงข้อกังวลของหลายโรงพยาบาลที่ระบุว่ามีอุปกรณ์ทางการแพทย์สำรองใช้เหลือเพียง 2 สัปดาห์ ว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง 1500 ล้านบาท ซื้อยาและเวชภัณฑ์ พร้อมผ่อนปรนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและส่วนตัวเจรจาขอความช่วยเหลือ
หากไทยติดเชื้อน้อยตัวเลขที่ใช้จะน้อยไปด้วย ยอดออเดอร์หน้ากาก N95 และชุด PPE คาดว่าจะได้รับ 4 แสนชิ้นต่อผลิตภัณฑ์ในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็ขาดแคลนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตจากยุโรป ส่งผลบริษัทอุตสาหกรรมอื่น ๆ ปรับเปลี่ยนมาผลิตเครื่องช่วยหายใจ และหลายประเทศร่วมมือกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต ฉะนั้นการใช้อย่างประหยัดและมีคุ้มค่ามากที่สุดจะมีความหมายมาก ที่สำคัญต้องทำให้ตัวเลขติดเชื้อในไทยน้อยที่สุด เน้นมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"