วันนี้ (3 มี.ค.2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าเรื่องการเดินทางกลับของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมาที่มีการสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และมีข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดย พล.อ.ประวิตร ได้ตอบว่ากระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงบางส่วนแล้ว ส่วนเรื่องการกักตัวนั้นไม่มีกฎหมายกักตัว และจะหารือเรื่องกฎหมายใน ครม.
คัดกรองแรงงานไทยตั้งแต่ต้นทาง
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ เสนอให้ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นต้นทาง มีมาตรการโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนการขึ้นเครื่อง และประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศในการขึ้นทะเบียนติดตามอาการของแรงงานดังกล่าวในระยะเวลา 14 วัน หากมีอาการจะไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่อง
นายกฯ นัดถกมาตรการรับคนไทยในเกาหลีใต้
ส่วนวันพรุ่งนี้ (4 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการหารือเชิงลึกถึงขั้นตอนการเดินทางกลับของแรงงานผิดกฎหมายจากประเทศเกาหลีใต้ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ หารือข้อสรุปกระบวนการในกลุ่มแรงงาน ว่า จะดำเนินการอย่างไร พร้อมขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยจะระบุมาตรการในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ 14 ข้อ ซึ่งเป็นมาตรการระยะเร่งด่วนในการป้องกันโรค รวมทั้งดูแลผลกระทบที่เกี่ยวข้องโดยให้ส่วนราชการดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น ให้หน่วยงานส่วนราชการ ที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อฝึกอบรมหลักสูตร หรืออบรมในประเทศที่เสี่ยงและประเทศที่เฝ้าระวังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ขอให้พิจารณาจัดหลักสูตรอบรมในประเทศ เว้นแต่กรณีที่ต้องได้รับการอนุญาต และขอให้กระทรวงคลังพิจารณาผลกระทบเอกชนคู่สัญญา ส่วนกรณีที่เดินทางผ่านประเทศเสี่ยง หรือต้องสงสัยติดเชื้อให้ปฏิงานในที่พักภายใน 14 วัน โดยไม่ถือว่าเป็นวันลา ส่วนประชาชนทั่วไปหากเดินทางไปประเทศเสี่ยงติดเชื้อให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ดำเนินการคัดกรองอย่างเคร่งครัด
เกาะติดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 : https://news.thaipbs.or.th/focus/Coronavirus2019
ลดภาษี-พักชำระหนี้ ลดกระทบ COVID-19
ด้านการบรรเทาผลกระทบ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาการจัดทำผลกระทบและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจก่อนเสนอ ครม.ในการพิจารณาต่อไป โดยเฉพาะเรื่องมาตรการภาษี สินเชื่อ การพักชำระหนี้ การสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน การพัฒนาทักษะ การพัฒนาสินค้าเกษตรและสินค้าอื่น ๆ ในชุมชน
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบจัดตั้ง “กองทุนสมทบเพื่อป้องกัน COVID-19” ระดมทุนก้อนแรกจากเงินเดือนของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อใช้เป็นต้นทุนจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชน