วันนี้ (26 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสร้างเขื่อนน้ำยวมและอุโมงค์ผันน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล กลับมาเป็นประเด็นพูดถึงอีกครั้ง หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา สภาผู้แทนราษฎร มาสำรวจจุดก่อสร้างเขื่อน บริเวณบ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
สำหรับโครงการนี้ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 70,000 ล้านบาท และผลกระทบสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะมีพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ที่ได้รับผลกระทบ 24 หลังคาเรือน มีพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วน และพื้นที่ป่าอาจถูกน้ำท่วมและใช้เป็นพื้นที่ทิ้งดินจากการขุดเจาะอุโมงค์
รองนายก อบต.แม่สวด เป็นตัวแทนให้ข้อมูล
นายยอดชาย พรพงษ์ไพร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ กมธ. ตนเองเป็นตัวแทนของชาวบ้านเพียงคนเดียวใน ต.แม่สวด ที่ไปให้ข้อมูล โดย กมธ.ชี้แจงความจำเป็นโครงการผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อช่วยลุ่มน้ำในภาคกลาง เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง
นายยอดชาย ระบุว่า โครงการผันน้ำและการสร้างเขื่อน ถ้าเกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้เหมือนคนต้นน้ำถูกเอาเปรียบ การผันน้ำไปช่วยภาคกลาง แต่กลับไม่ถามคนในพื้นที่ว่าผลประโยชน์หรือไม่ ส่วนตัวและชาวบ้านเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ ที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ของเจ้าของโครงการ แต่ชาวบ้านแทบไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เพราะมีการจำกัดเวลา ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสะท้อนปัญหาในพื้นที่โครงการได้จริงๆ
ชาวบ้านไม่ต้องการเขื่อน ถ้ามีเขื่อนในพื้นที่จริงๆ วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป และต้องเริ่มต้นชีวิตนับหนึ่งใหม่
นายยอดชาย กล่าวอีกว่า แม้ชาวบ้านจะต้องการความเจริญ แต่ปัจจุบันชาวบ้านที่นี่ก็มีกินมีใช้เพียงพอแล้ว แม้ว่าจะไม่ร่ำรวย หากินได้กับป่าและแม่น้ำ หากมีการก่อสร้างเขื่อนปลาที่ขึ้นมาจากแม่น้ำสาละวินที่เคยมีก็จะไม่สามารถขึ้นมาได้ ทำให้ความสมบูรณ์ลดน้อยลง ซึ่งหากจะมีโครงการก่อสร้างจริง อยากให้คำนึงถึงผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ และคนที่อยู่ด้วย เพราะชาวบ้านในหมู่บ้านและคนแม่ฮ่องสอนช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำต้องให้เขาใช้ชีวิตกับธรรมชาติและผืนป่า
เปิดใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบการสร้างเขื่อน
ขณะที่นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ ชาวบ้านแม่เงา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อน เพราะพื้นที่บ้านของเขาทั้งหมด 3 ไร่ จะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ผันน้ำที่เจาะผ่านภูเขาบริเวณบ้านจุดนี้ แน่นอนหากมีการอนุมัติก่อสร้างโครงการ เขาจำต้องเป็นผู้อพยพจากที่อยู่เดิม
นายประจวบ กล่าวว่า ไม่ทราบมาก่อนเลยว่าบ้านของจะเป็นที่ตั้งสถานีสูบน้ำ เคยมีบริษัทแอบมาสำรวจที่ดินบริเวณบ้านครั้งแรก โดยไม่ทราบว่ามีการขุดอะไร เพราะไม่มีการขออนุญาต แต่ครั้งที่ 2 มีกลุ่มคนมาขุดสำรวจอีกครั้ง โดยมาขออนุญาตเพื่อขุดตรวจชั้นดิน และได้มาทราบที่หลังเมื่อมีการเชิญชาวบ้านมาพูดคุยเพื่อชี้แจงโครงการฯ
ชาวบ้านรู้สึกเครียด-ไม่อยากย้ายออกจากพื้นที่
นายประจวบ กล่าวว่า ยอมรับว่าเครียดกับโครงการที่จะเกิดขึ้น โดยไม่อยากย้ายไปจากพื้นที่เพราะเหมือนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ทั้งบ้าน และพื้นที่ทำกิน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะย้ายไปอยู่ไหน พื้นที่ทำกินอย่างไร และจะชดเชยแบบไหน ทุกครั้งที่มีการจัดเวทีก็ไม่มีการพูดถึง
นอกจากพื้นที่บ้านพักอาศัย พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านก็อยู่ในข่ายที่ได้รับผลกระทบนอกจากน้ำที่จะท่วมพื้นที่ป่า และเกษตรกรรมบางส่วน พื้นที่ปลูกพืชไร่บนดอยของชาวบ้าน โดยเฉพาะถั่วเหลืองของชาวบ้านหลายรายก็อยู่ในข่ายที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการขุดดินที่ขุดเจาะอุโมงค์ที่มีความยาวกว่า 61.52 กิโลเมตร จะต้องมีพื้นที่จัดเก็บวัสดุและทิ้งดินที่เกิดจากการขุดเจาะอุโมงค์ จำนวน 6 จุด คาดว่าจะมีดินที่ถูกนำมาทิ้งประมาณ 6.1 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายธงชัย เลิศพิเชียรไพบูลย์ ชาวบ้านแม่เงา กล่าวว่า เขาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่มีพื้นที่เกษตรกรรมที่จะมีการนำดินมากองทิ้ง บริเวณใกล้กับสถานีสูบน้ำบริเวณนี้มีที่ดินของชาวบ้านหลายรายมีพื้นที่มากกว่า 40 ไร่ อนาคตหากมีการสร้างอุโมงค์พื้นที่แห่งนี้จะมีการนำดินมาทิ้งจำนวนมาก ซึ่งเขากังวลว่าหากมีการนำดินจำนวนมากมาถมไว้ อาจส่งกระทบกับชาวบ้าน เพราะอาจเสี่ยงต่อการพังทลายหน้าดิน เพราะบริเวณนี้เป็นร่องทางน้ำ หากมีฝนตกลงมาดินเหล่านี้ก็จะไหลเข้าหมู่บ้าน
"เขื่อนน้ำยวม" มีความจุอ่างที่ 68.34 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการแนวส่งน้ำยวม เขื่อนน้ำยวมจะก่อสร้างเป็นเขื่อนหินถมคอนกรีต มีความสูง 69.5 เมตร กว้าง 9 เมตร ความยาว 260 เมตร มีอ่างเก็บความจุอ่าง 68.34 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีสถานีสูบน้ำที่บ้านสบเงามีน้ำผันเฉลี่ยต่อปี 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลงสู่เขื่อนภูมิพล ด้วยอุโมงค์ส่งน้ำคอนกรีต มีความยาว 61.52 กิโลเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.10-8.30 เมตร
ส่วนความคืบหน้าโครงการฯ ล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาเข้าคณะกรรมการชำนาญการ มีการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งยังมีข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมหลายๆ เรื่อง ขณะที่เสียงสะท้อนของชาวบ้านในพื้นที่ บางส่วนยังไม่ต้องการให้เกิดเขื่อนในพื้นที่ และที่ผ่านมาพวกเขายังสะท้อนว่าไม่ได้เสนอปัญหาและผลกระทบของพวกเขาอย่างเต็มที่ และมีคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลดีกับพวกเขาอย่างไร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง