วันนี้ (21 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มีความพยายามจะทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ควบคู่กับการให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้ผู้ที่จัดตั้งพรรคการเมืองต้องดำเนินการตามบทบัญญัติต่าง ๆ และหากทำไม่ได้ก็จะมีการลงโทษในหลายระดับ
หนึ่งในบทลงโทษที่ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองอย่างยิ่ง คือ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ทำหน้าที่วินิจฉัยเพื่อ “เพิกถอนหรือยุบเลิก” พรรคการเมือง
ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา (2540-2562) มีพรรคการเมืองถูกยุบพรรคไปแล้ว 109 พรรค
โดยแบ่งออกเป็นการยุบพรรคตามบทบัญญัติของกฎหมายในแต่ละช่วง
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 จำนวน 92 พรรค
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 จำนวน 16 พรรค
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จำนวน 1 พรรค
พรรคการเมืองที่ถูกยุบตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 จำนวน 92 พรรค
แยกตามปีที่มีการยุบพรรค
พ.ศ. 2541 ยุบ 1 พรรค
พ.ศ. 2542 ยุบ 4 พรรค
พ.ศ. 2543 ยุบ 4 พรรค
พ.ศ. 2544 ยุบ 18 พรรค
พ.ศ. 2545 ยุบ 19 พรรค
พ.ศ. 2546 ยุบ 10 พรรค
พ.ศ. 2547 ยุบ 11 พรรค
พ.ศ. 2548 ยุบ 10 พรรค
พ.ศ. 2549 ยุบ 4 พรรค
พ.ศ. 2550 ยุบ 11 พรรค
ยุบพรรคมีตั้งแต่ทำผิดกฎหมาย ข้อบังคับ กกต.
สำหรับเหตุแห่งการยุบพรรค
- มีพรรคการเมือง 39 พรรค ที่ถูกยุบพรรคตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง คือ ไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้ 5,000 คนขึ้นไป และต้องเป็นสมาชิกที่อยู่ในแต่ละภาคและจังหวัดตามที่ กกต.กำหนด มีสาขาพรรคภาคละอย่างน้อย 1 สาขา ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่จัดตั้งพรรคการเมือง
- มีพรรคการเมือง 12 พรรค ที่ถูกยุบตามมาตรา 62 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง
ไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีให้ถูกต้อง ยื่นต่อ กกต.ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
- มีพรรคการเมือง 9 พรรค ที่ถูกยุบพรรคตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง
หัวหน้าพรรคไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปี และแจ้งต่อ กกต.ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
- มีพรรคการเมือง 5 พรรคที่ถูกยุบไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น (มาตรา 65 วรรค 3) ได้แก่
พรรคมวลชน ไปรวมกับ พรรคความหวังใหม่ (2541)
พรรคเสรีธรรม ไปรวมกับ พรรคไทยรักไทย (2544)
พรรคความหวังใหม่ ไปรวมกับ พรรคไทยรักไทย (2545)
พรรคชาติพัฒนา ไปรวมกับ พรรคไทยรักไทย (2547)
พรรคต้นตระกูลไทย ไปรวมกับ พรรคชาติไทย ( 2548)
- มีพรรคการเมือง 1 พรรค คือพรรคไทยรักไทย ถูกยุบเพราะกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
กรณีจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ต้องได้คะแนนเสียง ร้อยละ 20 ขอองผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว
- มีพรรคการเมือง 3 พรรค ที่ถูกยุบเพราะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ 3 พรรคเล็กที่ส่งผู้สมัครสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย
พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2550 ยุบอีก 16 พรรค
พรรคการเมืองที่ถูกยุบตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 จำนวน 16 พรรค
1.แยกตามปีที่มีการยุบพรรค (2550-2560)
พ.ศ. 2551 ยุบ 3 พรรค
พ.ศ. 2553 ยุบ 3 พรรค
พ.ศ. 2555 ยุบ 2 พรรค
พ.ศ. 2556 ยุบ 2 พรรค
พ.ศ. 2557 ยุบ 2 พรรค
พ.ศ. 2558 ยุบ 1 พรรค
พ.ศ. 2559 ยุบ 2 พรรค
พ.ศ. 2560 ยุบ 1 พรรค
2.แยกตามเหตุแห่งการยุบพรรค
- มีพรรคการเมือง 7 พรรค ที่ถูกยุบพรรค เนื่องจากหัวหน้าพรรคไม่จัดทำรายงานการดำเนินการการประจำปีตามรอบปฏิทิน
- มีพรรคการเมือง 6 พรรค ที่ถูกยุบพรรคเนื่องจากไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง
- มีพรรคการเมือง 3 พรรคที่ถูกยุบ (2551) เนื่องจาก การกระทำล้มล้างการปกรครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย
กรณีกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง แจกใบแดง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ส.ส.แบบสัดส่วน
นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองเลขาธิการพรรคชาติไทย
นายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย
พรรคการเมืองที่ถูกยุบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จำนวน 1 พรรค
คำวินิจฉัยที่ 3/2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ มีการการะทำที่อาจจะเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ตามมาตรา 92) กรณีการเสนอชื่อบุคคลให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี)