ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : ถมทะเล 3,000 ไร่

เศรษฐกิจ
23 ธ.ค. 62
22:05
4,392
Logo Thai PBS
เปิดปม : ถมทะเล 3,000 ไร่
กนอ.ศึกษาโครงการถมทะเลเนื้อที่ 3,000 ไร่ หวังจูงใจเอกชนลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดึงเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ท่ามกลางคำถามถึงความคุ้มทุนของสิ่งแวดล้อมหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง

เปิด 4 ทางเลือกตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แหลมฉบัง

เดือนสิงหาคม 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. หาพื้นที่ขนาด 2 – 3 พันไร่ รองรับการลงทุนของกลุ่มบริษัทปิโตรเคมี เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ ทาง กนอ. จึงว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ดูความคุ้มค่าการลงทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ

หากผลศึกษาพบว่า ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน และกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก ก็มีความเป็นไปได้ว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์จากมูลค่าเศรษฐกิจ

นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ มีพื้นที่ 4 แห่ง ที่ กนอ.กำลังศึกษาความเหมาะสม

 

พื้นที่ที่ 1 เป็นพื้นที่บนบก เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ พื้นที่นี้มีผู้ถือกรรมสิทธิ์การเช่ารวม 7 ราย จำนวน 14 แปลง ปัจจุบันเป็นคลังสินค้า ลาดจอดรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อการส่งออกและอู่ต่อเรือ สิทธิการเช่าเหลือตั้งแต่ 1 – 15 ปี

พื้นที่ที่ 2 เป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประกอบไปด้วยโรงกลั่นน้ำมัน และชุมชนที่กระจายตัวและแทรกตัวอยู่ระหว่างโรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน และคลังก๊าซ พื้นที่รวมประมาณ 5 พันไร่

พื้นที่ที่ 3 พื้นที่ถมทะเลในบริเวณเขาบ่อยาและเขาภูไบ ด้านทิศเหนือของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง หรือบริเวณอ่าวอุดม เบื้องต้นกำหนดพื้นที่เป้าหมายการถมทะเลประมาณ 2500-3000 ไร่

พื้นที่ที่ 4 เป็นพื้นที่การก่อสร้างแหล่งเก็บตะกอนในอนาคต ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการการก่อสร้างขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 1875 ไร่ บริเวณนี้คือด้านหลังของเกาะสีชัง

ตอนนี้มีทั้งหมด 4 แห่ง ที่เรามีเป้าหมายอยู่ บนบก 2 แห่ง และ ในทะเล 2 แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในแหลมฉบังเพราะในมาบตาพุดตอนนี้ เรามองว่ามันเต็มจริงๆ 

รองผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า เฉพาะในแหลมฉบังมีพื้นที่ในทะเลอยู่ 2 แห่ง โดยต้องศึกษาเรื่องทิศทางลม เพราะทิศทางลมก่อให้เกิดการเคลื่อนตัวของคลื่นลมที่มีผลต่อการเคลื่อนตัวของตะกอนทราย  

อันนี้เราก็ต้องศึกษานะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่อีกอันหนึ่งอยู่ใกล้เกาะสีชังอยู่ด้านหลังของเกาะ เราก็ต้องมองว่าข้างหลังของเกาะสีชังจะเป็นเส้นทางการเดินเรือมาที่ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นท่าเรือหลักของประเทศ เพราะฉะนั้นเรื่องของการถมทะเลแล้วมันจะมีทำให้ทางเดินเรือตื้นเขินหรือไม่อย่างไร ก็ต้องศึกษาให้ละเอียดครับ

นอกจากนั้น รองผู้ว่าการ กนอ. ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่ทางเลือกบนบกมีความเป็นไปได้น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทางเลือกในทะเล เนื่องจากพื้นที่ทางเลือกบนบกทั้งสองแห่ง ยังมีที่ดินจำนวนหลายแปลงที่ติดสัญญาเช่า และสัญญาเช่าต่างๆ มีระยะเวลาหมดอายุสัญญาเช่าไม่เท่ากัน ทำให้การรวบรวมพื้นที่เป็นไปได้ยากและอาจไม่ได้พื้นที่ตามขนาดที่ตั้งเป้าหมายไว้

มีเอกชนสนใจลงทุน 3 ราย

ข้อมูลจาก กนอ. ระบุว่า ขณะนี้มีเอกชนจำนวน 3 รายที่สนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานปิโตรเคมีและเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ตาม ทาง กนอ. ปฏิเสธให้รายชื่อเอกชนทั้ง 3 ราย แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีเอกชนรายหนึ่งที่ออกตัวว่าให้ความสนใจลงทุนในพื้นที่ที่ กนอ. ศึกษาความเหมาะสมอยู่ นั่นคือ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด

เนื้อหาบางส่วนจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ระบุว่า นายอดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานบริหารโครงการอุตสาหกรรมแห่งอนาคต บริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า "บริษัทเอ็กซอนโมบิลสนใจเข้ามาลงทุนโรงงานปิโตรเคมีในไทยเพื่อตั้งโรงงานผลิตโพลิเมอร์คุณภาพพิเศษ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย หรือ S-Curve ที่ต้องการใช้วัสดุคุณภาพพิเศษ เช่น ชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุด้านการเกษตรในกลุ่มแผ่นฟิล์ม บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร และ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาทสำหรับโครงการนี้"

                                                                          ที่มา : bangkokbiznews.com

ส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ประธานบริหารโครงการอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ระบุว่า
“การที่เอ็กซอนโมบิลจะเลือกไทยเนื่องจากมีโรงกลั่นศรีราชาที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพสูงในไทย ติดอันดับโรงกลั่นที่ดีที่สุด 1 ใน 3 ของโลกที่เอ็กซอนโมบิลเข้าไปลงทุน ทำให้ต่อยอดจากโรงงานเดิมไปตั้งโรงงานผลิตปิโตรเคมีชั้นสูงได้ไม่ยากและมีต้นทุนต่ำ สามารถใช้ท่าเรือ คลังเก็บน้ำมันดิบ โครงสร้างพื้นฐาน และวัตถุดิบตั้งต้นบางส่วนจากโรงกลั่นเดิมได้ทันที รวมทั้งบุคลากรของเอ็กซอนโมบิลที่ไทยก็มีประสิทธิภาพสูง แต่หากไปตั้งที่อื่น เช่น จีน หรือเวียดนาม จะต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ แม้ว่าไทยจะมีจุดเด่นมากแต่มีจุดอ่อนสำคัญ คือ ในพื้นที่รอบโรงกลั่นเอ็กซอนโมบิลที่ อ.ศรีราชา ในรัศมี 5 กิโลเมตร ไม่สามารถหาพื้นที่ขยายโรงงานใหม่ได้เลย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกแนวทางถมทะเลในพื้นที่ใกล้โรงกลั่นเป็นพื้นที่มากกว่า 1,000 กว่าไร่

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น บริเวณเขาบ่อยา เพราะเป็นพื้นที่โขดหินทำให้ไม่ต้องรบกวนพื้นที่ชายหาดบริเวณอื่นและปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ แต่ขึ้นกับผลการศึกษาความเป็นไปได้ของ กนอ.ที่คาดว่า กนอ.จะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้แล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.พ.2563”

ชาวประมงพื้นบ้านแหลมฉบังขอรัฐทบทวนโครงการ

ชาวประมงในพื้นที่มีความกังวลในต่อการศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่แหลมฉบัง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาพบว่า พื้นที่ที่ทาง กนอ.กำลังศึกษาและพื้นที่ที่บริษัทเอ็กซอนโมบิลฯ ให้ความสนใจ คือบริเวณอ่าวอุดม แหล่งทำกินและแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของชาวประมงในพื้นที่

 

นายอมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม จ.ชลบุรี ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2554 ประมงพื้นบ้านแถบอ่าวอุดมร่วมกันทำบ้านปลา และกันเขตพื้นที่ขนาด 2 ตารางกิโลเมตร ระหว่างสะพานเรือของบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน และ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทเครือเดียวกันกับบริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด) เพื่อให้พวกเขามีสัตว์น้ำให้จับได้ตลอดทั้งปี และฟื้นฟูอ่าวอุดมให้กลับมาอุดมด้วยสัตว์น้ำอีกครั้ง หลังจากพื้นที่นี้ผ่านการก่อสร้างท่าเรือ วางท่อก๊าซ และ ท่อน้ำมัน มาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น หากมีการถมทะเลเกิดขึ้น จะเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนี้ทั้งหมด เพราะจะเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตะกอนเลน และสัตว์น้ำที่หายไป เนื่องจากบริเวณอ่าวอุดมเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เขาจึงต้องการให้รัฐทบทวนความเหมาะสมของโครงการนี้และให้หาพื้นที่อื่นโดยไม่ถมทะเล

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลซึ่งอีกภายใน 50 ปีไม่เกิน 100 ปีก็หมดแล้ว แล้วรัฐจะทำอย่างไรกับโรงงานที่กำลังจะสร้างเหล่านี้ แต่ถ้าไม่ถมทะเล ผมบอกได้เลยว่าอีก 100 ปีข้างหน้าจะมีอะไรงอกเงยจากทะเลตรงนี้บ้าง

บริษัทที่ปรึกษาออกแบบร่างถมทะเล 3 แบบ

ขณะนี้ บริษัทที่ปรึกษาต่างๆ ของ กนอ. และบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุนก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ เข้าพบปะชาวบ้านในชุมชนรอบอ่าวอุดมเพื่อรวบรวมความเห็นของประชาชนในพื้นที่

ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษา ที่ทาง กนอ. ว่าจ้าง ได้นำเสนอร่างแนวคิดแบบการถมทะเลเบื้องต้นให้ชุมชนพิจารณา จำนวน 3 แบบ ดังนี้

 

ร่างแบบการถมทะเลทางเลือกที่ 1 คือถมทะเลออกไปในพื้นที่อ่าวอุดม ขนาดพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่

ร่างแบบการถมทะเลทางเลือกที่ 2 คือ ทำร่องน้ำตรงกลางระหว่างแนวชายฝั่งกับพื้นที่ถมใหม่ เพื่อให้กระแสน้ำยังสามารถไหลผ่านได้ ทางเลือกนี้ดูมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะอาจก่อให้เกิดตะกอนและดินเลนทับถมตามร่องน้ำในอนาคตได้

ร่างแบบการถมทะเลทางเลือกที่ 3 คล้ายกับทางเลือกที่ 1 แต่ปรับพื้นที่ให้มีหน้าตัดมากขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อกระแสน้ำลดลง

นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า รูปแบบแนวคิดทั้งสามแบบส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทั้งหมด มากกว่านั้นยังทำลาย “ธรรมนูญอ่าวอุดม” ข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างชุมชนกับบริษัทเอกชนในพื้นที่อ่าวอุดม เพื่อร่วมกันฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนกับอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ซึ่งธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2556

ชาวบ้านไม่เคยคัดค้านว่าอย่ามีโรงงาน แต่ควรไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังซึ่งยังมีพื้นที่ที่เหลืออยู่ โดยไม่ต้องมากระทบกับประชาชนเลย ธรรมนูญบ้านอ่าวอุดมก็ยังศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม ประชาชนก็ยังทำกินได้เหมือนเดิม อุตสาหกรรมต่างๆยังดำเนินกิจการได้เหมือนเดิม ทำแบบนี้ไม่ดีกว่าเหรอครับ มันคือสันติวิธีที่ทุกคนไม่มีใครเสียเลย

รอผลสรุปการศึกษาเบื้องต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563

รองผู้ว่าการ กนอ. ระบุว่าผลการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ทางเลือกทั้ง 4 แห่งจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากได้รับรายงานผลการศึกษา กนอ. จะส่งรายงานฉบับนี้ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและนำเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคตต่อไป

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง