เป็นไปท่ามกลางคำถามว่า กรมชลประทานเร่งรัดผลักดันโครงการมูลค่า 70,000-80,000 ล้านบาทขึ้นมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และผู้บริหารอ้างว่าดีทุกอย่างนั้น
คุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือไม่?
มันทดแทนความเสียหายที่มิอาจประเมินค่าได้ ไม่ว่าผืนป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำใหญ่น้อย ระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตพี่น้องคนชาติพันธุ์ (ไทย-กะเหรี่ยง)ในพื้นที่ 2 จังหวัดได้หรือไม่?
คำถามในใจค่อยๆคลี่คลายลงเมื่อทีมงานสำนักข่าวชายขอบ(https://transbordernews.in.th) เห็นด้วยตาและรับฟังผ่านรูหู ระหว่างลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคม 2562 เราพบชัดเจนว่า นอกจากการใช้งบประมาณแผ่นดินเกือบแสนล้านบาทโดยไม่จำเป็น และไม่คุ้มค่าแล้วนั้น ยังมีสิ่งใดบ้างที่จะสูญเสียตามมา
ผู้นำชุมชนและผู้ที่จะได้รับผลกระทบตลอดเส้นทางโครงการ 4 ช่วง ต่างให้ข้อมูล และรายละเอียดผลกระทบที่พวกเขาจะได้รับกับทีมงานแบบไม่มีเม้ม ได้แก่
ช่วงแรก ท้ายอุโมงค์ปล่อยน้ำลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่หมู่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
ช่วงที่สอง แนววางอุโมงค์ กว้าง 8-10 เมตร ระยะทาง 62 กิโลเมตร
และบริเวณกองหิน ที่บ้านอูตูม ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แนวอุโมงค์เป็นเส้นตรง ผ่านป่าสงวนขนาดใหญ่และมีสภาพสมบูรณ์มาก
ช่วงที่สาม บริเวณปากอุโมงค์สูบน้ำ ที่ตั้งสถานีสูบน้ำ ถังพักน้ำ และโรงไฟฟ้าป้อนเครื่องสูบ ณ หมู่บ้านสบเงา ต.แม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
ช่วงสุดท้าย นั่งเรือย้อนแม่น้ำยวมไปทิศตะวันตก สำรวจพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ สูง 68 เมตร วัดจากจุดนี้ถึงปลายอุโมงค์ส่งน้ำที่ อ.ฮอด
“ฮอด-อมก๋อย” ต้าน มีแต่เสียไม่มีได้
บ้านแม่งูดมี 172 ครัวเรือน 700 คน มีที่ทำกินประมาณ 300 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสวนลำไย ตรงนี้เป็นจุดก่อสร้างปลายอุโมงค์ส่งน้ำลงอ่างภูมิพล
นายวันไชย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านวัย 46 ปี นำดูจุดสร้างอุโมงค์และลำราง อธิบายให้เห็นระดับที่จะสูงขึ้นท่วมสวนลำไย จุดที่ลูกบ้านต้องโยกย้ายหนีน้ำ
เขาเล่าว่า บริษัทที่ปรึกษาส่งคนมาพูดให้ยอมรับโครงการ แต่ชาวบ้านมองเห็นผลเสียมากกว่าผลดีที่มีเฉพาะคนภาคกลาง แต่คนแม่งูดไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะผันน้ำเฉพาะหน้าฝน ซึ่งที่นี่ไม่ขาดแคลน แต่พอขอให้ผันน้ำช่วงหน้าแล้งให้ กลับบอกว่าไม่ได้ เมื่อสอบถามถึงที่ทำกินใหม่และค่าชดเชย ก็ไม่ได้รับคำตอบชัดเจน
ภาคีเครือข่าย 15 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงโพล่ง ต่างไม่เอาโครงการ เพราะพวกเราเห็นผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดี
ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดกล่าว
จาก อ.ฮอด มุ่งหน้ายังหมู่บ้านอูตูมกลางป่าสงวนอมก๋อย ดูแนวขุดอุโมงค์กว่า 80% พาดผ่านป่าไม้ผืนใหญ่ที่สมบูรณ์ มีผืนป่าสักแซมเป็นหย่อมๆ ป่าผืนนี้คือต้นกำเนิดแหล่งต้นน้ำ ลำธาร ลำห้วยใหญ่น้อย บางส่วนไหลลงแม่น้ำสอง บางส่วนเป็นประปาภูเขาให้ 9 หมู่บ้าน 700 ครัวเรือน ใช้สอยดื่มกิน
แน่นอนว่า เส้นทาง ขั้นตอน และกระบวนการขุดอุโมงค์ จะทำลายผืนป่า แหล่งน้ำ ระบบนิเวศน์ เรือกสวนไร่นา และวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอย่างปฏิเสธไม่ได้ สูญเสียมากน้อยวัดไม่ได้เป็นตัวเลข แต่ประเมินได้จากหน้างานก่อสร้าง ซึ่งต้องตัดป่าทำถนนเส้นใหม่ ขนเครื่องจักร อุปกรณ์ก่อสร้าง รถขุดเจาะ ฯลฯ เข้ามา ตั้งไซด์งาน ใช้ระเบิดไดนาไมต์ทำลายหินแกร่ง ทลายภูเขา ฯลฯ จากนั้นขนเศษหินดินไปกองทิ้งไว้ในหุบเขา 2 จุด
มิพักต้องพูดถึงผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง ฝุ่น และการปนเปื้อนของแร่ธาตุอันตรายที่ถูกขุดขึ้นมา คนรับกรรมคือชาวบ้านนับพันคนในผืนป่าซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆจากผู้เกี่ยวข้อง
เจ้าหน้าที่เรียกผู้นำชุมชนไปฟังชี้แจง ผู้นำกลับมาก็ไม่ได้แจ้งให้ลูกบ้านรับรู้ว่าโครงการดีหรือเสีย มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร เราอยากให้มีเวทีชาวบ้าน ไม่ใช่งุบงิบทำกันเงียบๆ
นายพิบูลย์ ธุวมณฑล เครือข่ายชาติพันธุ์ อ.อมก๋อย กล่าว
คนสบเงาไม่โง่-ให้ระวังผิดผี
ทางด้านคนสบเมยก็ไม่ต่างอะไรกับคนอมก๋อย กล่าวคือไม่รู้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับโครงการเลย ทั้งๆที่มันจะฮุบกลืนที่อยู่อาศัยที่ทำกินของใครหลายคนไปหมดเพื่อก่อสร้างปากอุโมงค์ โรงสูบน้ำ และถังพักน้ำครอบลงบนจุดชมวิว แหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์ของหมู่บ้านสบเงา ที่ซึ่งแม่น้ำเงาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยวม
ในเอกสารโครงการระบุผู้ได้รับผลกระทบ 2 ราย แต่วันที่ทีมงานไปถึง ผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5 รายนั่งรอให้ข้อมูล ทุกคนต่างพูดเสียงเดียวกันว่า จะไม่ยอมสูญเสียที่อยู่ที่ทำกินซึ่งสู้อุตส่าห์สร้างสมมานานหลายสิบปีไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่ไหนก็ไม่รู้ พร้อมกับจะรวมตัวกันคัดค้านโครงการให้ถึงที่สุด
นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ อายุ 52 ปี บ้านและสวนอยู่บนปากอุโมงค์พอดี เล่าว่า รองอธิบดีกรมชลประทานเคยมาที่นี่ครึ่งหนึ่ง บอกว่า อยากให้คนภาคกลางมีน้ำใช้ ตนถามว่า แล้วคนในพื้นที่จะได้อะไร จะให้ชาวบ้านไปบุกรุกที่ไหนอยู่กิน แต่ละปีทำสวนถั่วเหลืองได้ 30,000 บาท แบ่งเงินไว้ซื้ออุปกรณ์ทำกิน ส่งลูกเรียน ถ้าเกิดโครงการขึ้น บ้านต้องรื้อ สูญเสียสวน ต้นไม้ทั้งหมด จะให้ไปอยู่ไหน ทำกินอย่างไร แต่ละคนจะได้รับช่วยเหลือชดเชยเป็นธรรมหรือไม่ ทั้งหมดที่สงสัย ไม่เคยได้คำตอบชัดเจน
ผมไปมาหลายเวที อยากให้ผู้ใหญ่ฟังเราพูดบ้าง แต่เขาพูดอยู่ฝ่ายเดียว ให้เวลาเราแค่นิดเดียว เขาบอกกับชาวบ้านว่าโครงการดีหมด ไม่มีอะไรไม่ดีเลย ไม่กระทบชาวบ้าน มันฟังไม่ขึ้น อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ
ส่วนนายธงชัย เลิศวิเชียรไพบูลย์ 1 ใน 4 รายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ บอกว่า นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ทีมศึกษาโครงการ เอาเอกสารมาให้เซ็นชื่อ ตกลงว่าจะยอมรับเงินค่าชดเชย 1.5 ล้านบาทสำหรับบ้าน ที่ดิน และโกดังเก็บถั่วเหลือง ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บอกตัวเลข 3 ล้านบาท
นายธงชัย ยังกล่าวถึงการกองหินใกล้หมู่บ้านสบเงาว่า ขนาดตัวตุ่นเล็กนิดเดียวยังขุดดินมากองใหญ่ แล้วอุโมงค์กว้าง 8-10 เมตร ยาว 62 กม.กองหินจะมหึมาขนาดไหน ฝนตกชะล้างฝุ่นละออง สารพิษจากแร่ธาตุลงแหล่งน้ำประปาภูเขา จะส่งผลกระทบชาวบ้านแค่ไหน เจ้าหน้าที่บอกว่าจะอัดกองหินให้แน่นแล้วปลูกป่าทดแทน ตนแย้งไปว่าพูดง่ายแต่ทำยาก จะปลูกต้นไม้ได้หรือบนกองหิน
ชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจ เขามาเป่าหูให้เห็นด้วย มาหลอกว่าจะได้เงิน แต่มาเป่าหูมาหลอกผมไม่ได้หรอก ผมไม่เอา คนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์แม้แต่น้อย หนำซ้ำยังต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ พันธุ์ปลา 30 ชนิดจากแม่น้ำสาละวินที่จะขึ้นมาแพร่พันธุ์ในแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา ต่อไปลูกหลานไม่มีปลาให้จับกิน เราอยู่กับป่า ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ โรงสูบมา อุโมงค์มา เราจะเหลืออะไร
เจ้าของโกดังถั่วเหลืองกล่าวเตือนกรมชลประทานว่า คนกะเหรี่ยงโบราณถือว่าไม่ควรทำให้น้ำไหลย้อนทวนกลับ เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ผิดผี เจ้าป่าเจ้าเขาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษ
นอกจากนี้ ทีมข่าวชายขอบยังได้ข้อมูลจากนายหนานจันทร์ ทองคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสบเงาว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้วเคยทำหนังสือคัดค้านถึงนายอำเภอสบเมย แต่นายอำเภอบอกให้ดูไปก่อน จะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เนื้อหาในหนังสือสรุปว่า
1.โครงการมีผลกระทบหลายด้านต่อชุมชน 40 หลังคาเรือน ประชากร 200 คน ที่อยู่อาศัย และแม่น้ำ ที่สำคัญคือลำห้วยเขียด และห้วยม่วง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตประปาหมู่บ้านจะได้รับผลกระทบจากการขุดอุโมงค์ การนำหินมากองไว้ในพื้นที่ สุ่มเสี่ยงแร่ธาตุบางชนิดไหลซึมลงสู่แหล่งน้ำ
2.ชาวบ้านอยู่กันแบบเศรษฐกิจพอเพียง และสุขสบายดีแล้ว ฤดูฝนน้ำท่วมปกติ แต่ถ้าสร้างเขื่อนกั้นน้ำยวม ที่บ้านสบเงาจะท่วมหนักกว่าเดิม อาจถึงขั้นโยกย้ายหนีน้ำ
3.ถ้าต้องทำโครงการ ทางการจะช่วยเหลืออย่างไร จะให้ไปอยู่ที่ไหน ทำกินอย่างไร
สรุปแล้ว ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรสักอย่าง ถ้าเสียสละ พวกคุณก็ต้องเสียสละบ้าง เราขอไปจะให้เราได้ทั้งหมดอย่างเป็นธรรมมั้ย ถึงที่สุด ถ้าจำเป็นจริงๆ ทางเลือกสุดท้าย เราก็ต้องยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา
หลังสำรวจโครงการผันแม่น้ำยวมครั้งนี้ ทำให้เรามั่นใจว่า คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงตลอดเส้นทาง 4 ช่วง ล้วนไม่ยอมให้หน่วยราชการนำอำนาจรัฐมาใช้รังแกอย่างไม่เป็นธรรมได้ง่ายๆ เช่นที่ผ่านมา