วันนี้ (15 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านท่าหลวง ต.ท่าหลวง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ทยอยนำข้าวเปลือกมาตากแดดเพื่อลดความชื้น ภายในลานวัดบ้านท่าหลวง หลังภาครัฐขอความร่วมมือไม่ให้นำข้าวไปตากบนถนน เพราะกีดขวางการจราจรและเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา
พระสมุหะบุญมี ฐาระจิตโต เจ้าอาวาสวัดบ้านท่าหลวง กล่าวว่า เห็นใจชาวนาที่ไม่มีสถานที่ตากข้าวเปลือก หลังเก็บเกี่ยวจึงเปิดพื้นที่ลานวัดให้ชาวนานำข้าวมาตากไม่อยากให้ไปตากบนถนน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สัญจรไปมา แต่มีข้อตกลงร่วมกัน ขอให้นำข้าวมาตากไม่เกินคนละ 2 วัน เพื่อหมุนเวียนสลับกัน และไม่ให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ตากข้าวของชาวนาด้วยกัน
เช่นเดียวกับ ชาวนาในพื้นที่ ต.โคกสำราญ และตำบลใกล้เคียงใน อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ต่างพากันนำรถบรรทุกข้าวเปลือก เข้าไปตากที่บริเวณลานจอดเครื่องบินภายในสนามบินกองทัพบก เลิงนกทา ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.โคกสำราญ เป็นสนามบินเก่า ก่อสร้างตั้งปี พ.ศ.2506
ขณะที่ ต.โพนข่า อ.เมืองศรีสะเกษ ยังคงใช้ถนนคอนกรีตเป็นพื้นที่ตากข้าวเปลือก ทำให้เหลือช่องจราจรเพียง 1 ช่องทาง ส่งผลให้รถที่สัญจรบนถนน ต้องใช้ความระมัดระวัง
ชาวบ้าน บอกว่า ไม่ได้ปิดถนน หรือปิดเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชน และนำป้ายติดแจ้งเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะรับทราบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
"ตากข้าวบนถนน" มีความผิด
ในแต่ละปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว มักมีกรณีของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชน รถคว่ำ หลายเหตุการณ์ส่วนหนึ่งมาจากกรณีการตากข้าวบนถนน
นายเอกพงศ์ สุรพันธ์พิชิต หัวหน้างานบริการวิชาการด้านกฎหมาย สำนักกฎหมาย กรมทางหลวงชนบท อธิบายความรู้เกี่ยวกับกฎหมายกรณีผู้ขับขี่รถยนต์ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากมีผู้นำข้าวเปลือกมาวางตากแดดบนถนน ว่า
จากเหตุการณ์ที่มีผู้ขับขี่รถยนต์ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากบนถนนมีผู้นำข้าวเปลือกมาวางตากแดดไว้ยาวตลอดช่องจราจรนั้น ในส่วนความรับผิดทางแพ่งในเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ที่นำข้าวเปลือกมาตากได้
และนอกจากนั้น ผู้นำข้าวเปลือกมาวางกองเพื่อตากแดดบนทางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ยังมีความผิดทางอาญาด้วย โดยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 114 วรรคหนึ่งมีโทษตามมาตรา 148 ระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2545 มาตรา 19 มีโทษตามมาตรา 57 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 72 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่การกระทำครั้งเดียวกันนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กำหนดหลักการไว้ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีอัตราโทษสูงสุดจึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535
โดยมาตรา 38 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวนวาง หรือ กองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะ ที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวกแก่งานทาง
เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวง หรือ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้"
แม้กฎหมายจะกำหนดให้สามารถขออนุญาตได้ก็ตาม แต่การจะนำสิ่งใดมาวางกองบนถนนในลักษณะดังกล่าวย่อมจะเกิดผลกระทบต่อการใช้ทางสัญจรไปมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจอนุญาตได้
ขอย้ำเตือนไปยังเกษตรกร ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งอาจเป็นคนในครอบครัวของท่านเองด้วย เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสีย