วันนี้(31 ต.ค.62) กรมการค้าภายใน ได้เปิดเผยผลการศึกษา แนวทางการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ซึ่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา คือ นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา Forensic Services บริษัท ไพร๊ซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (PwC) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานบริการด้านการเงินการธนาคาร ประกันภัย ธุรกิจยา โรงพยาบาล โรงแรม และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ศึกษาข้อมูลราคาซื้อ (ต้นทุนยา) และราคาขายยาที่โรงพยาบาลเอกชนแจ้งเข้ามาในระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Big Data) ด้วยการเรียงลำดับของราคาขายและราคาซื้อ จากสูงสุดไปต่ำสุด และจำแนกปัจจัยที่อาจมีผลต่อการกำหนดราคาขายและราคาซื้อ ในเบื้องต้นผลการวิเคราะห์พบว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจ มีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชน
โดยโรงพยาบาลแบบกลุ่ม (ที่มีบริษัทในเครือ) ประเภทบริษัทจำกัด พบว่า ส่วนใหญ่มีการกำหนดราคาขายสูง ขณะที่มีราคาซื้อค่อนข้างต่ำ ซึ่งโดยปกติเชื่อได้ว่า มีอำนาจต่อรองสูงและน่าจะมีการจัดซื้อในปริมาณที่มาก ดังนั้น ธุรกิจแบบกลุ่มจะมีอัตรากำไรส่วนเกิน สูง
ขณะที่โรงพยาบาลแบบเดี่ยว ประเภทบริษัทจำกัดและมูลนิธิ พบว่าส่วนใหญ่มีการกำหนดราคาขายค่อนข้างต่ำ ขณะที่มีราคาซื้อค่อนข้างสูง ซึ่งโดยปกติเชื่อได้ว่า มีอำนาจต่อรองต่ำและจัดซื้อในปริมาณที่น้อย ดังนั้น ธุรกิจแบบเดี่ยวจะมีอัตรากำไรส่วนเกินต่ำกว่าแบบกลุ่ม
ส่วนปัจจัยแหล่งที่ตั้ง พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกำหนดราคาขายสูง
ขณะที่ปัจจัยด้านมาตรฐาน Joint Commission International หรือ JCI และขนาดจำนวนเตียง พบว่าไม่ได้มีผลกระทบที่มีความสัมพันธ์กับการกำหนดราคาแต่อย่างใด
ผลการศึกษาจากการวิเคราะห์โรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาขายสูง 10 อันดับแรก และราคาขายต่ำ 10 อันดับแรก พบว่าการกำหนดราคาขายของโรงพยาบาลเอกชนแบบกลุ่ม ไม่สอดคล้องกับต้นทุน กล่าวคือ ต้นทุนต่ำ แต่กำหนดราคาขายสูง
จะเห็นได้ว่า และอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน (CM Ratio) ของรายการยา เช่น ตัวอย่างยา Tylenol (แก้ปวดลดไข้) มีช่วงราคาขายตั้งแต่ 22 - 26.58 บาท และมีกำไรถึง 21.00 - 97.82 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ยา Anapril (ลดความดัน) มีช่วงราคาขาย 150 - 9,100 บาท มีอัตรากำไรตั้งแต่ 60 - 98.91 เปอร์เซ็นต์เป็นต้น
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า โรงพยาบาลในเครือที่มีหลายสาขา แต่การคิดค่ายาและบริการหรือเวชภัณฑ์ในด้านต่างๆ มีราคาสูงเกินจริง ทั้งที่ระบบทางการตลาดต้นทุนในการซื้อยาจะต้องมีราคาถูกลง แต่กลับมาคิดในอัตราที่แพงพอสมควร บางโรงพยาบาลมีราคาสูงเกินความเป็นจริงหลายเท่าตัว ดังนั้น ในขั้นตอนต่อไปเมื่อมีฐานข้อมูลแยกกลุ่มและประเภทของโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบชัดเจนแล้วทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมที่ปรึกษาจะไปจัดทำฐานข้อมูลการบวกกำไร (มาร์จิ้น) ค่ายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการในด้านต่างๆ กันต่อไป
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการจัดทำมาร์จิ้นจะพิจารณาเสร็จได้ในเร็วๆ นี้ และหลังจากนั้น กรมการค้าภายในจะประกาศใช้เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลเอกชนนำไปใช้ในการคิดราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กรมฯจะใช้แนวทางเชิญชวนโรงพยาบาลเอกชนที่ดีไม่เอาเปรียบผู้บริโภคมาเข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลคุณธรรม ที่ภาครัฐจะมอบตราสัญญาลักษณ์ให้กับโรงพยาบาลที่ดีและมีคุณธรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับโรงพยาบาลอีกด้วย และในอนาคตเชื่อมั่นว่าการวิเคราะห์ต้นทุนด้านต่างๆ ออกมาชัดเจนจะทำให้ระบบค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการด้านต่างๆ มีความถูกต้องและเป็นจริงมากขึ้น