ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้ โลกร้อนเสี่ยงภัยพิบัติ แนะไทยเร่งปรับตัว

ภัยพิบัติ
26 ต.ค. 62
18:53
2,625
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ โลกร้อนเสี่ยงภัยพิบัติ แนะไทยเร่งปรับตัว
ในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง นักวิชาการคาดการณ์ว่าปัญหาโลกร้อนคือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อากาศแปรปรวน แนะหากไม่ปรับตัว ไทยจะพบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ว่าอุณหภูมิในปี พ.ศ.2559 ทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส สาเหตุเพราะได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง ทำให้ความร้อนในชั้นบรรยากาศมีค่าสูงขึ้นกว่าปกติ เป็นผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วย

 

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ได้ออกมาเตือนถึงการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งหากยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ถึงร้อยละ 10 ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2562 - 2566

 
ขณะที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายประเทศก็เผชิญกับภัยพิบัติ เช่น พายุฝนที่พัดถล่มอย่างหนักในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมถนนอย่างฉับพลันจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก บางเมืองรถยนต์ถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก นอกจากนี้กระแสน้ำยังพัดพาโคลนเข้ามาสร้างความเสียหาย ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต้องช่วยกันกวาดโคลนออกจากบ้านเรือนและถนนหลังน้ำลด ล่าสุด สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศสคาดการณ์ว่าอาจมีพายุฝนพัดถล่มซ้ำ

พายุฝนยังพัดถล่มแคว้นกาตาลุนญาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่และเกิดกระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ประชาชนประมาณ 2 หมื่นคนไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนอย่างน้อย 40 สายถูกตัดขาด เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คนและสูญหายไปอีก 2 คน เช่นเดียวกับประเทศอิตาลีที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้รถยนต์บางคันถูกน้ำพัดไปติดกับซากไม้ขนาดใหญ่ริมคลอง ขณะที่บางคันไหลไปติดกับกำแพงบ้านประชาชนและพลิกคว่ำเสียหาย

 
ขณะที่องค์การนาซา คาดการณ์ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดการผันผวนได้ตามแต่ละภูมิภาค แต่บริเวณอาร์กติกจะเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุด เห็นได้จากธารน้ำแข็งที่หดตัวและมีการลดลงของจำนวนน้ำแข็งในทะเลอย่างต่อเนื่อง

 
สำหรับประเทศไทย ก็กำลังเผชิญกับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนไม่ต่างกัน ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของประเทศไทยในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาระหว่างปีพ.ศ.2524 – 2561 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยแม้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว แต่ก็มีอุณภูมิสูงสุดและต่ำสุดไม่คงที่ ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยามีคำเตือนว่า ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายนนี้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน อุณหภูมิ จะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขณะที่ภาคใต้จะมีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักบางแห่ง ที่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส ขอให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

 

 

 

 

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นมีผลให้เกิดภัยพิบัติถี่ขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนบ่อยครั้ง ยังสะท้อนไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยมักได้รับผลกระทบมากกว่า จึงเสนอให้พัฒนาระบบเตือนภัยให้เพื่อบรรเทาความสูญเสีย

 

 

สอดคล้องกับณัฐริกา วายุภาพ นิติพล รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า หากไม่ร่วมกันลดโลกร้อน ภายในปลายศตวรรษนี้จะมีประชากรโลกมากถึงครึ่งหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบ สำหรับประเทศไทย แม้ทุกภาคส่วนจะช่วยกันลดการใช้พลังงานจนทำได้เกินเป้าหมาย แต่ในอนาคตยังต้องลดมากกว่านี้เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัญหา

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง