ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชี้ "กำแพงกันคลื่น" ตัวเร่งกัดเซาะแบบโดมิโน

สิ่งแวดล้อม
24 ต.ค. 62
18:25
4,742
Logo Thai PBS
ชี้ "กำแพงกันคลื่น" ตัวเร่งกัดเซาะแบบโดมิโน
ร่อนจดหมายเปิดผนึกฉบับ 2 ถึง "วราวุธ" เร่งแก้ข้อผิดพลาดในอดีตกรณี ทส.ยกเลิกการทำอีไอเอโครงการรอดักทราย เขื่อนกันทราย และคลื่น รวมทั้งแนวเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งทะเล ชี้ 1 ใน 3 ของปัญหากัดเซาะ 90 กม.มาจากผลกระทบแบบโดมิโนจากโครงการป้องกันที่ผิดวิธี

วันนี้(24 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ทำหนังสือเปิดผนึกถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทยกรณีการทำโครงการกำแพงกันคลื่นแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง โดยระบุว่าสาเหตุที่ทำให้มีโครงการเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปลดล็อกการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2556 ) พบว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2556 ลงวันที่ 11 พ.ย.2556 ให้ยกเลิกความในลำดับที่ 25 ในเอกสารท้ายประกาศ 3 แห่งประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม ลงวันที่ 24 เม.ย.2555 โดยให้ยกเลิกโครงการลำดับที่ 25 ในอีไอเอ คือ ตัดโครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งทุกขนาดที่มีความยาวตั้งแต่ 200 เมตรออกไป และคงไว้เพียงอีก 2 รายการที่ต้องทำอีไอเอ ได้แก่

  • รอดักทราย เขื่อนกันทราย และคลื่น รอบังคับกระแสน้ำ ทุกขนาด ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ หรือ ขออนุญาตโครงการ
  • แนวเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งทะเล ทุกขนาด ให้เสนอในขั้นขออนุมัติ หรือ ขออนุญาตโครงการ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ปลดล็อก EIA เขื่อนริมตลิ่ง สู่จดหมายถึง"อนุพงษ์" ปมแก้กัดเซา

 

ชี้ผลกระทบกำแพงกันคลื่น 1 ใน 3 เร่งปัญหากัดเซาะ

ล่าสุดเฟซบุ๊กของนายศักดิ์อนันต์ โพสต์ผ่าน Sakanan Plathong ระบุว่า ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยระบุตอนหนึ่งว่า 

ตามที่ท่านได้กล่าวในที่ประชุมสภาว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในปัจจุบัน มีระยะทาง 726 กิโลเมตร มีพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันประมาณ 90 กิโลเมตร มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว 637 กิโลเมตร ผมเห็นว่า พื้นที่ที่มีการดำเนินแก้ไขแล้ว 637 กิโลเมตรนั้นหลายบริเวณ หลายโครงการเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด ส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้นทั้งจากการสะท้อนกำแพงพัดพาหาดทรายด้านหน้ากำแพงให้หายไป และยังรุกลามไปยังพื้นที่ข้างเคียง

พื้นที่ที่กำลังมีปัญหากัดเซาะชายฝั่งระยะทาง 90 กิโลเมตรเป็นผลมาจากกำแพงและกองหินกันคลื่น เป็นระยะทางถึง 33 กิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ และกำลังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโน อย่างไม่รู้จบ สิ้นเปลืองงบจำนวนมาก

ในการนี้ ผมได้ส่งหนังสือ ขอให้กระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานระดับภูมิภาค (จังหวัด) และระดับท้องถิ่น ซึ่งกำลังมีโครงการก่อสร้างกำแพงริมฝั่ง ติดชายฝั่ง ทั้งกำแพงคอนกรีต กองหิน และกระสอบทรายยักษ์อยู่ทั่วทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล โดยไม่มีการไตร่ตรองทางวิชาการถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ ผมจึงได้เสนอให้มีกระบวนการตรวจสอบทางวิชาการ เพื่อยับยั้งการใช้งบประมาณไปในทางที่ส่งผลเสียในระยะยาว

 

ข้อผิดพลาดจากการ "ปลดล็อก" อีไอเอ 

การดำเนินการที่ผิดพลาดดังกล่าว ไม่เพียงแต่โดยกรมโยธาธิการฯและหน่วยงานในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น กรมเจ้าท่า ดำเนินโครงการดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2556 ลงวันที่ 11 พ.ย.2556 ให้ยกเลิกความในลำดับที่ 25 ในเอกสารท้ายประกาศ 3 แห่งประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เม.ย.2555 ซึ่งมีผลที่สำคัญ คือ

ตัดโครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ออกจากบัญชีประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอ ซึ่งส่งผลให้โครงการดังกล่าว ไม่ต้องมีกระบวนการศึกษา และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ผมจึงขอเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งรัดให้มีกลไกการดำเนินการที่จะต้องให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างริมทะเลทุกประเภท ทั้งนี้โดยใช้แนวทางตาม Environmental Checklist ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำร่างขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการออกระเบียบ ประกาศ พร้อมกลไกการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งโครงการที่จะส่งผลต่อชายหาดทั่วประเทศ

"วราวุธ"ยันรัฐบาลแก้ 3 ระดับโครงสร้างมาทีหลัง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา นายวราวุธ ชี้แจงระหว่างการอภิปรายจากฝ่ายค้านของการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ 2563 วาระที่ 1 (รับหลักการ) ยืนยันว่าชายฝั่งประมาณ 3,000 กม.ในพื้นที่ 23 จังหวัด พบมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร้อยละ 25 หรือ 700 กิโลเมตร เบื้องต้นแก้ปัญหาแล้ว 640 กม.เหลือเพียง 80 กม.ที่กำลังเร่งดำเนินการ

แบ่งแนวทางแก้ไขเป็น 3 ระดับ พบมีกัดเซาะรุนแรงประมาณ 20 กม.กัดเซาะปานกลาง 29 กม.และกัดเซาะน้อย 37 กม.ทั้งนี้ การแก้ปัญหาด้านโครงสร้างวิศวกรรมที่แข็งแรงมี 2 ส่วน คือ การทำกำแพงคลื่น 240 กม. และการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล 225 กม.ซึ่งต้นปี 2561 ครม.เห็นชอบแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 3 ระดับ คือ มาตรการสีขาว ลดผลกระทบของการกัดเซาะต่อสิ่งมีชีวิตและประชาชนในพื้นที่ด้วยการกำหนดแนวถอยร่นเข้ามา 

มาตรการสีเขียว รักษาเสถียรภาพและป้องกันการกัดเซาะโดยใช้วิธีการปลูกป่า การฟื้นฟูป่าชายหาดและป่าชายเลนอยู่ในการจัดสรรงบประมาณปีนี้อยู่แล้ว และมาตรการสีเทา การป้องกันด้วยการใช้เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด ซึ่งการใช้โครงสร้างด้านวิศวกรรมต่างๆนั้นต้องผ่านการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อน

การกัดเซาะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก คลื่นลมและกระแสน้ำในทะเลในแต่ละฤดูกาลของแต่ละช่วงของปี ส่งผลให้อัตราพื้นที่การกัดเซาะเปลี่ยนแปลงไป ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆของนโยบาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง