ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปิดฉาก “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” ปี 2 มั่นใจ 5 ปี ไทยขยะเป็นศูนย์

สิ่งแวดล้อม
11 ต.ค. 62
18:39
1,321
Logo Thai PBS
ปิดฉาก “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” ปี 2 มั่นใจ 5 ปี ไทยขยะเป็นศูนย์
อาสาพายเรือเพื่อเจ้าพระยา ประกาศไม่หยุดเก็บขยะ จนกว่าคนไทยจะเลิกทิ้ง มั่นใจ 5 ปีไทยขยะเป็นศูนย์ #TrashzeroThailand เสนอกลไกเศรษฐศาสตร์ให้คนเห็นค่าขยะ ส่วนขยะรีไซเคิลนำไป “ทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ” ที่วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ วัดต้นแบบคัดแยกขยะ

วันนี้ (11 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ จากขยะที่เก็บได้ทั้งหมด 3,215 กิโลกรัม จาก โครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปีที่ 2 ตลอด 10 วัน ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ถึง จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 535 กิโลเมตร ถูกนำมา "ทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ" ให้วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ วัดต้นแบบของชุมชนในการคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นขวดพลาสติก กระป๋องโลหะ และขวดแก้ว

การทอดผ้าป่าขยะ ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อวัดที่จะนำมารีไซเคิล แต่ยังเป็นตัวอย่างของวัดต่าง ๆ ในการช่วยชีวิตสัตว์น้ำ ช่วยมาเรียม ช่วยเต่า ช่วยปลา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะปากแม่น้ำอ่าวไทย ตรวจพบไมโครพลาสติกจำนวนมาก ดังนั้น การทำบุญ รณรงค์แบบนี้ก็เท่ากับ เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ กระตุ้นให้คนรู้ว่าขยะมีค่า อย่าทิ้งลงแม่น้ำ


พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดจากแดง ระบุว่า ขยะเหล่านี้เพียง 15 ขวด สามารถนำกลับมาทอจีวรพระได้ 1 ผืน หากมี 60 ขวด ก็จะทอได้ทั้งชุด การทิ้งขยะ จึงเท่ากับการทิ้งเงิน และทิ้งของมีค่า การทอดผ้าป่า คือ คติธรรมประชาชนให้เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง

อาตมาขอบิณฑบาตขยะ ขยะภายนอกทิ้งแล้วสร้างผลเสีย ต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ทะเล ขอเชิญชวนให้เลิกทิ้งขยะภายนอก แต่ที่ควรทิ้งให้หมด คือ ขยะภายในจิตใจ และขยะภายในสมอง เจริญพร


ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ขยะที่เก็บได้เป็นเพียงการช่วยให้มีขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาน้อยลงไป 3,215 กิโลกรัม หากไม่เก็บขยะเหล่านี้จะไหลลงอ่าวไทยและทำให้สัตว์ทะเลตาย แต่ขยะในเจ้าพระยา ยังมีมากกว่านี้ และทิ้งลงมาใหม่ทุกวัน ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริง คือ ชวนคนให้เลิกทิ้งขยะ

เก็บขยะไม่พอ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ หาว่า ใครบ้างเป็นคนทิ้ง ?


ผศ.ปริญญา ระบุด้วยว่า การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจาก ”ผู้มีส่วนผลิตขยะ” เช่น

  • ส่วนแรก คือ ผู้ประกอบการเครื่องดื่ม ทั้งที่เป็นแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มทั่วไป เวลานี้ ทางสมาคมฯ ได้ตอบรับจะมาร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะประเภทเครื่องดื่มลงถังก่อนคัดแยก และไม่ให้ทิ้งลงแม่น้ำอีก โดยหวังว่าหาก CSR ของภาคธุรกิจมีแนวทางเดียวกัน จะช่วยให้ปัญหาลดลง เพราะขยะที่เก็บได้ส่วนใหญ่ในแม่น้ำมาจาก เครื่องดื่ม
  • สมาคมเรือขนส่ง เรือลาก เรือโยง มีส่วนที่คนเรือจะทิ้งขยะลงน้ำ ปีนี้ จึงมีทั้ง สมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ, สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย, สมาคมเรือไทย มาร่วมรณรงค์ให้ คนเรือ ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง
  • สมาคมนักตกปลา เข้าร่วมเชิญชวน นักตกปลา เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ และช่วยกันเก็บขยะหลังทำกิจกรรมตกปลา
  • กระทรวงมหาดไทย ถือเป็นแม่งานหลักที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทั้งในระดับนโยบาย และระดับท้องถิ่น โดยทาง ม.ธรรมศาสตร์ และ ผศ.ปริญญา จะถ่ายภาพ และส่ง Location จากวัด หรือ ชุมชนที่มีการทิ้งขยะ เพื่อแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการแก้ปัญหาจุดที่มีการทิ้งขยะต่อไป

 


นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า แม้วัดจากแดงจะเป็นตัวอย่างของวัดที่มีส่วนร่วมเก็บขยะ คัดแยกขยะ แต่ก็เป็นจังหวัดปลายน้ำ ที่พบขยะ และคุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรมมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย จึงมีแนวทางจะขยายผลที่เป็นรูปธรรมของวัดจากแดง ไปยังวัดอื่นในชุมชน พร้อมเดินหน้ารณรงค์ให้ทุกวัด และโรงเรียน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน หันมาเรียนรู้ และทำความเข้าใจการจัดการขยะ โดยเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รับทราบนโยบายจากส่วนกลาง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นแกนนำสำคัญที่จะรณรงค์ให้ช่วยกันแก้ปัญหานี้

 


นายวิชาญ สุขสว่าง ผอ.กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวลล้อม ได้เน้นย้ำหลัก 3R คือการลดการใช้, นำกลับมาใช้ใหม่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยรัฐบาลกำลังเดินหน้าประกาศลดการใช้และงดรับถุงพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมในวันที่ 1 ม.ค.2563 พร้อมระบุว่า ต้องการให้ประชาชนมองว่า การแยกประเภทขยะยังมีความสำคัญ และจะช่วยลดภาระให้กับเทศบาลและท้องถิ่น

โดยระบุข้อมูลภาพรวมขยะทั่วประเทศว่า เวลานี้มีประมาณ 27 ล้านตัน/ปี มากที่สุด ร้อยละ 64 คือ ขยะรีไซเคิล, รองลงมา คือ ขยะอินทรีย์ ร้อยละ 33, ขยะทั่วไป ร้อยละ 3 และขยะอันตราย ร้อยละ 3 หากถูกคัดแยกและนำมาแปรรูปอย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มมูลค่า และลดปัญหาได้ในระยะยาว

 

 

 


ผศ.ปริญญา ยังระบุด้วยว่า เป้าหมายใหญ่ของการรณรงค์พายเรือเก็บขยะ ไม่เพียงลดขยะในแม่น้ำลำคลอง แต่ต้องการให้ขยะเป็นศูนย์ผ่านการลดการใช้ เลิกทิ้ง ขยะ #TrashZeroThailand 

ธรรมศาสตร์จะไม่เลิกทำเรื่องนี้ จนกว่าคนไทยจะเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรชายฝั่งทะเล วิจัยเปรียบเทียบปริมาณขยะที่ไหลออกอ่าวไทยในทุกแม่น้ำได้แก่ บางปะกง ท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา เพชรบุรี บางตะบูน ปริมาณขยะเปรียบเทียบปี 2561 กับ 2562 พบว่าขยะมีปริมาณลดลงแล้วร้อยละ 30 โดยเชื่อว่าการรณรงค์ผ่านการพายเรือเก็บขยะปีที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขยะในแม่น้ำลดลง และเห็นผลลัพธ์


ผศ.ปริญญา เชื่อว่าภายใน 5 ปี ที่คนไทยจะเลิกทิ้งขยะ และทำให้ขยะเป็นศูนย์ได้ พร้อมเสนอกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ เช่น อาชีพใหม่ หรือ Start up เก็บขยะในแม่น้ำ เพื่อนำมาสู่รายได้และการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น โครงการพายเรือเก็บขยะ ทุกครั้งหลังการเก็บ และคัดแยกขยะก็จะนำมามอบให้ชุมชน ท้องถิ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาสาพายเรือ 50 ลำ ถึงบางกะเจ้าแล้วพร้อมขยะ 2 ตัน

"โตโน่ - ต๊ะ พิภู" พายเรือเก็บขยะ ช่วยกู้แม่น้ำจากวิกฤต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง