วันนี้ (10 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาสาสมัคร "พายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปี 2" กว่า 50 ลำ ได้พายเรือถึงจุดหมายที่ อ.บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ แล้วเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. รวมระยะทางตลอด 10 วัน กว่า 349 กิโลเมตร
การพายเรือวันนี้ เริ่มต้นจาก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยนอกจากอาสาสมัครพายเรือที่ร่วมพายตั้งแต่จุดเริ่มต้น ที่ จ.นครสวรรค์ จำนวน 20 ลำแล้ว วันนี้ ยังมีอาสาสมัครพายเรือมาสมทบเพิ่มอีก 30 ลำ เช่น นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์, กลุ่ม Trash Hero Thailand และกลุ่ม BIG Trees
นอกจากอาสาสมัครพายเรือ วันนี้ ยังมีเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา ที่บางส่วนได้ร่วมเก็บภาพกิจกรรมมาตั้งแต่เริ่มกิจกรรม ขณะที่บางส่วนก็มาร่วมเก็บภาพกิจกรรมพายเรือในวันสุดท้าย
ตอนแรกไม่คิดว่าขยะจะมากขนาดนี้ พอนั่งเรือไปเรื่อย ๆ ถึงกรุงเทพฯ ก็เห็นขยะเยอะกว่าปกติ ก็แปลกใจทำไมขยะเยอะมากขนาดนี้ ก็เลยคิดว่า พอประชาชนได้เห็นภาพที่พวกหนูถ่าย จะได้ไม่ทิ้งขยะลงไปในแม่น้ำ เพื่อจะได้ลดปริมาณขยะลงไปอีก
ขณะที่ช่วงพักระหว่างกิจกรรม มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ บริเวณศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จากการตรวจวัดในช่วงแรกระหว่าง จ.นครสวรรค์ ถึง จ.อ่างทอง มีคุณภาพน้ำ ค่า DO (Dissolved Oxygen) หรือ ค่าของปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ อยู่ที่ 4.1 - 5.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นคุณภาพน้ำระดับพอใช้ หรือ เหมาะแก่การเกษตร แต่เมื่อยิ่งเข้าใกล้เขตกรุงเทพมหานคร พบว่าคุณภาพน้ำยิ่งต่ำลง โดยการตรวจวัดที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม มีค่า DO อยู่ที่ 1.7 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก เหมาะแก่การคมนาคมเท่านั้น
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า การแก้ปัญหาระดับนโยบายจะเดินหน้าตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2562 ตั้งแต่การแบนพลาสติก 3 ชนิด, การจัดการกับพลาสติกแตกสลายได้ ชนิดอ๊อกโซ (Oxo-Degradable Plastics) หรือ พลาสติกที่แตกตัวเป็นไมโครพลาสติก รวมถึงการแก้ปัญหาลด ละ เลิกใช้พลาสติก โฟม และหลอด ให้ได้ภายในปี 2564
นอกจากนี้ ยังมีการเชิญตัวแทนผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ร่วมหารือมาตรการป้องกันและแนวทางแก้ปัญหา เนื่องจากพบว่า เป็นต้นทางของขยะที่พบในแม่น้ำมากที่สุด
นายปรีชา ประสพผล นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ระบุว่า ภาคธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดขยะได้ โดยหลังจากนี้จะมีมาตรการให้กำจัดขยะภายในเรืออย่างถูกวิธี
อยากให้รณรงค์อย่างจริงจัง ไม่ใช่นาน ๆ ทำที แล้วหายไป เพราะข้อมูลระบุชัดว่าขยะมาจากฝั่ง 80 เปอร์เซ็นต์ จากเรืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนของเรือจำเป็นต้องให้ความร่วมมือ
ขยะส่วนใหญ่ที่เก็บได้ในวันนี้ คือ ขยะทั่วไป 79 กิโลกรัม รองลงมา คือ ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ และขยะอันตราย ตลอด 10 วันที่ผ่านมา สามารถเก็บขยะได้ 1,953.9 กิโลกรัม โดย จ.ปทุมธานี มีขยะมากที่สุดในจำนวน 10 จังหวัด ที่ทีมอาสาสมัครพายเรือผ่าน ปริมาณ 562 กิโลกรัม ขณะที่พื้นที่ปลายน้ำก่อนไกลลงสู่อ่าวไทย อย่าง จ.สมุทรปราการ พบว่า คุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรมมากที่สุด มากกว่ากรุงเทพมหานคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"โตโน่ - ต๊ะ พิภู" พายเรือเก็บขยะ ช่วยกู้แม่น้ำจากวิกฤต
อาสาฯ พายเรือเพื่อเจ้าพระยา พบขยะจงใจทิ้ง ส่งผลคุณภาพน้ำต่ำ
"คุณหญิงกัลยา" เล็งบรรจุหลักสูตรแยกขยะพลาสติกในโรงเรียน