ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

4 เขื่อนหลักน้ำน้อย "ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา" เตรียมงดปลูกข้าว

ภัยพิบัติ
8 ต.ค. 62
20:01
2,579
Logo Thai PBS
4 เขื่อนหลักน้ำน้อย "ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา" เตรียมงดปลูกข้าว
ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงขาดน้ำทำนา เหตุ 4 เขื่อนหลักน้ำน้อย "ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ" รวมกัน มีเพียง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เตือนชาวนารับความเสี่ยง

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน จะเข้าสู่ฤดูแล้ง เริ่มต้นวันที่ 1 พ.ย.2562 แต่ขณะนี้ น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ รวมกัน มีเพียง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ซึ่งต้องกันไว้ใช้ในระบบนิเวศอุปโภคบริโภค ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเหลือน้ำเพื่อการเกษตร ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ชาวนาในลุ่มเจ้าพระยา มีความเสี่ยงสูงที่อาจไม่ได้ปลูกข้าวนาปรัง ในรอบฤดูแล้ง 62/63 เพราะ กรมชลประทานเปิดเผยว่าอาจสนับสนุนน้ำได้ไม่ทั้งหมด เพราะต้องเก็บไว้เพื่อการอุปโภคและบริโภครักษาระบบนิเวศก่อน

นางกานต์เปรม ปรีย์ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ระบุว่า หลังลงพื้นที่ตรวจปัญหาภัยแล้งในอำเภอวังชิ้น และอำเภอลอง จังหวัดแพร่ พบว่า ขณะนี้มีชาวบ้านที่ทำนานอกเขตชลประทานปลูกข้าวกว่า 1 หมื่นไร่ กำลังเดือดร้อน ขาดแคลนน้ำสำหรับทำนา ชาวนาจึงขอความช่วยเหลือให้เขื่อนภูมิพลเพิ่มการระบายน้ำในเขื่อนจากวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอต่อการเกษตร ทั้งที่ปัจจุบันมีน้ำเพียงร้อยละ 43 ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแนวทางแก้ปัญหา ก่อนฝนจะลดลง เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว รวมถึงการเร่งจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำอาไว้ใช้และรักษาระบบนิเวศ


กรมชลประทาน เปิดเผย ปัจจุบันน้ำใน 4 เขื่อนหลักส่วนใหญ่เหลือน้ำเพียงครึ่งเขื่อนเท่านั้น อย่าง เขื่อนภูมิพล เป็นปริมาณน้ำใช้การ 2,054 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43

เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,579 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การได้ 453 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 53

และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำใช้การ 375 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39

เพราะรวม ๆ ทั้ง 4 เขื่อนหลัก เรามีน้ำใช้การ 5,461 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งจัดสรรน้ำสิ้นฤดูฝนในช่วง 31 ต.ค. 172 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เราจะเหลือน้ำ 5,289 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าช่วงเวลารอฝนนี้ อาจมีน้ำเพิ่มขึ้น 752 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากการประเมินวิเคราะห์น้ำใช้การ ณ 1 พ.ย. ปีนี้ เราจะมีน้ำเพียง 6,041 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศฤดูแล้ง 62/63 ถึง ฤดูฝนปีหน้า อย่างน้อย ๆ จะต้องใช้ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร


ดังนั้น หักลบกันแล้ว น้ำฤดูแล้งรอบที่ชาวนาจะทำนาปลายปี 2562 ถึง ปี 2563 มีน้ำเพียงเพียง 1,041 เท่านั้น แทบจะไม่พอ กรมชลประทานจะขอความร่วมมือไม่เสี่ยงทำนา เพราะอาจไม่สนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร

ลุ่มน้ำภาคกลาง มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 20,125 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ สิงห์บุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี และอ่างทอง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 มิลลิเมตร/ปี โดยปีปกติปริมาณความต้องการใช้น้ำ ประมาณ 12,150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ปีนี้เราเหลือประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งลบกับน้ำอุปโภค เหลือไม่มากแล้ว

ขอให้ชาวนาเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงนี้ หากหลายคนคิดจะปลูกพืชต้องมีแหล่งน้ำของตัวเอง เพราะขณะนี้ กรมชลประทานไม่สนับสนุนการส่งน้ำ เพราะปีนี้และฝนตกไม่เข้าเขื่อนใหญ่ จึงทำให้มีจำกัดอาจกระทบกับน้ำอุปโภคและบริโภคอย่างที่เราเคยเจอปัญหาภัยแล้งมาแล้วในปี 2558

 

นิตยา กีรติเสริมสิน ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง