จากกรณีการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง จนกลายเป็นข่าวเด็กต้องกินขนมจีนคลุกน้ำปลา การนำไข่พะโล้บูดมาล้างปรุงใหม่ หรือการจัดซื้อวัตถุดิบไม่ครบถ้วน นำไปสู่การสั่งตรวจสอบทั้งประเทศ เนื่องจากกระทบนักเรียนที่อยู่ในช่วงวัยกำลังเติบโตทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา
วันนี้ (23 ก.ย.2562) นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ปฎิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อนโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การทุจริตโครงการอาหารกลางวันมีเพียง 0.05% เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียน 27,000 แห่งทั่วประเทศ แต่การทุจริตดังกล่าวไม่สมควรเกิดขึ้นแม้ 0.01% พร้อมแนะนำโรงเรียนจัดทำเมนู Thai school lunch ให้เหมาะสมกับเด็กทุกช่วงวัยตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษา เพราะเงินทุกบาทจะอยู่กับโครงการอาหารกลางวัน รวมทั้งความร่วมมือของบวร หรือบ้าน วัด โรงเรียน
ร.ร.บ้านหนองปลา ต้นแบบอาหารกลางวัน
โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งไม่เกิดปัญหา เพราะได้รับความร่วมมือที่ดีจากชุมชน ส่วนโรงเรียนที่ทุจริตอาหารกลางวันก็จะทุจริตโครงการอื่นด้วย เป็นลักษณะของบุคคลที่มีจิตใจ หรือมีความต้องการทุจริต
เล็งจัดงบฯ อาหารกลางวันเด็กใหม่
นายทรงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่ง สพฐ.วิเคราะห์จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ควรจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันต่อคนต่อวัน อยู่ที่ 24-36 บาท โดยแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 1-20 คน, 21-40 คน, 41-60 คน, 61-80 คน, 81-100 คน และ 101-120 คน
ขณะที่นายอดุลย์ เงินศรี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 กล่าวว่า มอบนโนบายให้กับผู้อำนวยการโรงเรียน 129 แห่ง หากใครกระทำผิดต้องรับผิดชอบ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ อาจจะไม่ครบ 100% แต่จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงเรียนที่ถูกพูดถึง หรือถูกร้องเรียนทุจริตทันที
สุ่มตรวจลดโกง
ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 ยืนยันว่า ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา พื้นที่ชุมพรเขต 2 ไม่มีการร้องเรียน หรือร้องทุกข์เกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวัน โดยรวบรวมปัญหาจากโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณไม่ทันตามกำหนด เพื่อหารือนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ประสานงานแก้ปัญหา ลดผลกระทบความไม่เข้าใจกันของเขตพื้นที่การศึกษาและท้องถิ่น พร้อมนำเสนอต้นแบบโรงเรียนที่ดำเนินการโครงการอาหารกลางวันสำเร็จ เช่น โรงเรียนบ้านหนองปลา โรงเรียนบ้านแหลมยางนา โรงเรียนบ้านหนองบัว เนื่องจากบุคลากรของเขตพื้นที่การศึกษาไม่เพียงพอในการติดตามทุกโรงเรียน 100%
ใครทำผิดคนนั้นต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าให้นโยบายกันแล้ว เน้นประโยชน์นักเรียน เอาตรงนี้เป็นตัวตั้งแล้วเรื่องทุจริตจะลดลง
สำหรับการติดตามโครงการอาหารกลางวัน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ สพฐ. ติดตามปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 คณะทั่วประเทศ, การจัดสรรงบประมาณจากกองทุนฯ ให้เขตพื้นที่การศึกษาใช้จ่ายนิเทศงาน และโรงเรียนต้องนิเทศกันเองเรื่องอาหารกลางวัน เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนทุจริตโครงการดังกล่าว
ร.ร.บ้านแหลมยางนา ต้นแบบอาหารกลางวัน