วันนี้ (2 ก.ย.2562) จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (UNDP) ผู้สนับสนุนงบประมาณให้กับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการทำโครงการดูสัตว์ในป่าในรูปแบบคล้ายกับซาฟารีแห่งแรก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนเนื้อที่กว่า 30,000 ไร่ ที่เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
โดยสัตว์ป่าที่เห็นได้ เช่น วัวแดง ช้าง เสือโคร่ง กระทิง สัตว์ชนิดอื่นๆ ที่จะออกมาหากินให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ซึ่งเป้าหมายของโครงการนอกจากจะสร้างคุณค่าของสัตว์ป่าให้เกิดรายได้ในการท่องเที่ยวให้กับคนในพื้นที่ ช่วยป้องกัน ลดการล่า และหวงแหนปกป้องการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ และเส้นทางที่กำหนดไว้ จะต้องวางแผนการบริหารจัดการให้รอบคอบป้องกันกิจกรรมมนุษย์เข้าไปกระทบกับชีวิตสัตว์ป่า หากเปิดการท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
มูลนิธิสืบหนุนจัดการสัตว์ป่าหากินนอกพื้นที่
นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เนื่องจากพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง เริ่มมีสัตว์ป่าเพิ่มเยอะ และกระจายออกนอกพื้นที่ เช่น วัวแดง กระทิง โดยพบมีสัตว์ป่าออกมาหากินเกือบทุกวัน ตั้งแต่พื้นที่บ้านเขาเขียว จนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ และตอนกลางของห้วยขาแข้ง ตอนนี้กำลังวิจัยว่า มีปัจจัยอะไรที่ทำให้สัตว์เหล่านี้ออกมานอกพื้นที่บ่อยขึ้น ซึ่งสาเหตุยังไม่ชัดว่าข้างในเป็นป่าดิบ ไม่มีทุ่งหญ้า หรือมีการรบกวนจากข้างในหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการวิจัย
ความชัดเจนที่สัตว์ป่ามีมากขึ้นเกิดจากการดูแลคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ในการการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งสัตว์ป่าบางชนิด จะกระจายหากินไปถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่ติดภูเขาและบางจุดมีแนวกันชนจากชุมชน และพื้นที่ราบ ซึ่งแนวคิดที่เคยคุยกันไม่ได้มองการท่องเที่ยวซาฟารี แต่จะมีวิธีการจัดการสัตว์ป่าที่ออกมานอกพื้นที่ และการดึงชุมชนในพื้นที่แนวกันชนร่วมด้วย ซึ่งผลดีคือถ้ามีการท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่ ก็จะลดคนเข้าพื้นที่ห้วยขาแข้ง และจำกัดคนที่จะเข้าอนุสรณสถานสืบนาคะเสถียร
พอบอกว่าเป็นซาฟารี ก็ยังไม่เห็นด้วยแบบนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องการจัดการสัตว์ป่าและการท่องเที่ยวนำ มองว่าไม่ใช่คำตอบที่คุยกันตั้งแต่แรก คงต้องมองบริบททั้งสัตว์ป่า และชุมชนจะมีสวนร่วมอย่างไร เรื่องนี้ยังเป็นแค่แนวทางการศึกษา

"ซาฟารี" ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เคยมีแนวคิดสักระยะ เพื่อเอาไปลดการใช้พื้นที่ห้วยขาแข้งมากที่สุด และย้ายกิจกรรมมาที่ชายขอบ แต่คิดว่าต้องดูความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมป่าไม้ กรมชลประทาน และชาวบ้านที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าออกมาหากิน และบางหมู่บ้านต้องย้ายออกไปอยู่นอกพื้นที่ เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาโดยต้องค่อยๆต่อจิ๊กซอร์ว่า แต่ละพื้นที่จะบริหารจัดการอย่างไร ถึงเหมาะสมและตกผลึกร่วมกัน
มีแนวคิดสักระยะหนึ่งแล้วว่า ถ้ามีการท่องเที่ยวนอกโซนใจกลางป่าห้วยขาแข้ง ก็ลดการใช้พื้นที่ห้วยขาแข้งมากที่สุด ให้เป็นบ้านของสัตว์ป่าจริงๆ โดยย้ายกิจกรรมมาที่ชายขอบ ส่วนสิ่งที่จะเห็นจากห้วยขาแข้ง คือเป็นศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านอนุรักษ์ จำกัดคนเข้าไปในบริเวณอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร
เรื่องนี้ยังมีอีกหลายมิติ ยังไม่ใช่บทสรุปว่าจะใช้การท่องเที่ยวมานำการจัดการแก้ปัญหาสัตว์ป่าที่ห้วยขาแข้ง เพราะตอนนี้คนห่วงว่าจะมีการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว และต้องนำเอกชนเข้ามาจัดการหรือไม่ ดังนั้นอยากให้พูดคุยกันอย่างละเอียดก่อน

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
"กรมอุทยาน" ปล่อยสัตว์ป่าหายากป่าธรรมชาติ
ด้านนายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่รูปแบบซาฟารีแบบที่ใช้ในแถบแอฟริกา ที่นำนักท่องเที่ยวนั่งรถไปดูสัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่โดยตรง และเรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่า
ยังเป็นแค่แนวคิด ยังไม่ได้คำตอบว่าจะควรหรือไม่ควร แต่คาดว่าภายในปลายปีนี้ ทางคณะวนศาสตร์ จะสรุปรูปแบบและพื้นที่โซนการท่องเที่ยว เสนอมายังคณะกรรมการโครงการ และกรมอุทยานฯตามขั้นตอน
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ได้ฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าให้สมดุลในพื้นที่ป่าธรรมชาติ มาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านโครงการเพาะพันธุ์และปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ถือเป็นมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยปีนี้ได้ให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้งประเทศ 25 สถานี เพาะพันธุ์สัตว์ป่า 56 ชนิด รวม 6,418 ตัว เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ล่าสุดได้ปล่อยสัตว์ป่า 2 ชนิดที่ห้วยขาแข้ง คือ เนื้อทราย 70 ตัว ละอง-ละมั่ง 30 ตัว รวม 100 ตัว จากเดิมเลี้ยงไว้ในคอกขนาดเล็กมาปล่อยในพื้นที่คอกขนาดใหญ่ 100 ไร่ เพื่อให้สัตว์ป่าคุ้นชินกับสภาพพื้นที่อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถหาอาหารได้เอง รู้จักศัตรู และรู้วิธีหลบภัยจากศัตรู
ขณะที่เพจกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังได้เผยนำเสนอข้อมูลเรื่องเที่ยวป่าหน้าฝนที่กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย ระบุว่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ผืนป่าที่ได้สมญานามว่า “กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย” เพราะสามารถเฝ้าดูฝูงช้างป่า กระทิง และสัตว์ป่าหายากอย่างวัวแดง ได้อย่างง่ายดาย ทุกเย็น เป็นพื้นที่หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อีกทั้งยังพักแรมที่ชุมชนบ้านรวมไทยติดผืนป่าแห่งนี้อีกด้วย

ห้วยขาแข้งมรดโลกทางธรรมชาติแห่งแรก
สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ใน จ.อุทัยธานี และมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในพื้นที่ จ.ตากและจ.กาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย และเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยโดยองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2534 ลักษณะเป็นผืนป่าที่มีความยาวจากเหนือจรดใต้ มีพื้นที่กว่า 1.8 ล้านไร่ หรือ 2,880 ตารางกิโลเมตร ทางด้านเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.ตาก และกาญจนบุรี และทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี รวมถึงอุทยานแห่งชาติพุเตย จ.สุพรรณบุรี มีเพียงพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่อยู่ติดกับชุมชน 3 อำเภอ คือ บ้านไร่ ลานสัก และอ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วราวุธ" นำทีมรำลึก 29 ปี "สืบ นาคะเสถียร"
แท็กที่เกี่ยวข้อง: