วันนี้ (18 ส.ค.2562) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลงพื้นที่ จ.พัทลุง รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีที่ดินทำกินแนวเทือกเขาบรรทัด ใน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง ซึ่งมีข้อพิพาทกรณีพื้นที่ทับซ้อนของชุมชนกับพื้นที่ของรัฐ ที่ประกาศเป็นเขตป่าสงวน ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า ที่ผ่านมามีความพยายามรวมตัวเพื่อหาทางพูดคุยถึงแนวทางแก้ปัญหากับรัฐ แต่ไม่เป็นผล กระทั่ง ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 64/2557 ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า มีการโค่นต้นยางพาราและพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ของชาวบ้านกว่า 1,300 แปลง แม้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 66/2557 เพื่อทุเลาปัญหากลุ่มประชาชนผู้ยากไร้ แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ เพราะเจ้าหน้าที่เลือกที่จะปฏิบัติตามนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเดียว ชาวบ้านจำนวนมากยังคงถูกปักป้ายยึดที่ดิน จนต้องสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม
นายธนาธร ระบุว่า ที่ผ่านมาแกนนำพรรคอนาคตใหม่ได้ลงพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อเก็บข้อมูลรวบรวมปัญหาที่ดินของเกษตรกร ซึ่งพบว่าปัญหาในลักษณะป่าทับที่ทำกินนี้ เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชีวิตประชาชนเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องสำคัญที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายเกษตร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ได้พูดไว้เรื่องกระดุม 5 เม็ด กระดุมเม็ดแรกในการแก้ไขปัญหาการเกษตรคือเรื่องที่ดิน ถ้าเกษตรกรยังไม่สามารถมีที่ดินของตัวเองได้ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรได้
นายธนาธร กล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้วรัฐมีกลไกที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างเป็นระบบ เช่น พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แปรสภาพเป็นเมืองไปหมด แต่แผนที่ยังเขียนว่าเป็นป่าอยู่ ก็ควรยกเลิกพื้นที่ป่า เพื่อขีดแผนที่ใหม่ พื้นที่ไหนชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ก็อาจทำข้อตกลงกับชุมชนให้มีที่ทำกินและต้องไม่บุกรุกเพิ่ม หรือมีพื้นที่ใกล้เคียงที่ย้ายให้ไปทำกินบริเวณนั้นได้ ก็อาจต้องตกลงกัน กลไกการแก้ปัญหามีมากมาย แต่ละพื้นที่ แต่ละภาค ก็มีวิธีการที่เหมาะสมแตกต่างกันไป
วันนี้เราไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้ ในฐานะฝ่ายค้าน เพราะออกเอกสารสิทธิให้ทุกท่านไม่ได้ ต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะฝ่ายค้าน ไปตั้งข้อหารือ ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อม ๆ กับเก็บข้อมูลไปด้วย วันหนึ่งถ้าเรามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล จะได้นำข้อมูลที่ได้มา ไปผลักกันการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
จากนั้น นายธนาธร เดินทางไปยังห้องประชุมเทศบาลตำบลควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อเปิดเวทีรับฟังประเด็นปัญหาจากเครือข่ายภาคประชาชนในภาคใต้ เช่น เครือข่ายที่ดินเทือกเขาบรรทัด, เครือข่ายการจัดการน้ำพัทลุง, เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีเมืองลุง, เครือข่ายการจัดการป่าร่วมยาง, เครือข่ายพลังงานทางเลือก, เครือข่ายเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น, เครือข่ายชาติพันธุ์มานิ, เครือข่ายเด็กและเยาวชน เป็นต้น ซึ่งได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนและสะท้อนปัญหาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ทรัพยากรน้ำ สารเคมีทางการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวบ้านมีความขัดแย้งกับรัฐและกลุ่มทุนมาโดยตลอด
นายธนาธร กล่าวสรุปหลังการรับฟังปัญหาว่า ปัญหาในประเทศไทยมากมาย แต่อำนาจรัฐกลับรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ทุกเรื่องต้องวิ่งผ่านกระทรวงต่าง ๆ ต่อให้มีนายกรัฐมนตรี 10 คน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น ส่ิงที่เป็นใจกลางของปัญหาจริง ๆ คือ ระบบราชการรวมศูนย์ อำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน อำนาจการบริหารหลายเรื่อง จึงต้องเอาออกจากส่วนกลางกลับมาที่ท้องถิ่น ปัญหาและความต้องการต่าง ๆ ต้องจบที่ท้องถิ่น ให้คนท้องถิ่นตัดสินใจ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะพาประเทศไทยไปข้างหน้าได้
เราช่วยแก้ปัญหาได้ในบางเรื่อง แต่หลาย ๆ เรื่องเราทำไม่ได้ ด้วยอำนาจที่มีอยู่วันนี้ น่าเศร้าใจที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาให้ทุกคนได้ ทุกครั้งที่ผมลงมาพบพี่น้อง แล้วได้รับฟังปัญหาที่เราไม่มีอำนาจแก้ไขให้ได้ ผมทั้งโกรธ ทั้งโมโห น้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมเราไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ทุกท่านได้
นายธนาธร ยังกล่าวอีกว่า จะนำเอาปัญหาที่รับฟังไปหาทางแก้ไขเท่าที่มีช่องทางทำได้ก่อน แต่ในระยะยาว ตนย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการ คือ การปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ที่เป็นต้นตอของปัญหา
ส.ส.อีสาน บุกชัยภูมิ พื้นที่ร้อน "สวนป่าคอนสาร"
ขณะที่วานนี้ (17 ส.ค.2562) รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายอภิชาติ ศิริสุนทร รวมถึง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 7 คน และนายชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรคภาคอีสาน ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขข้อพิพาทปัญหาผืนป่าทับที่ทำกินภาคอีสาน โดยมีผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากข้อพิพาทร่วมพูดคุยสะท้อนปัญหา
มีการหยิบยกกรณีร้อน พื้นที่ทับซ้อนสวนป่าคอนสาร กับ ชุมชนบ่อแก้ว และอีกหลายชุมชนใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านระบุว่า ข้อพิพาทดังกล่าว เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2516 รัฐประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต่อมา องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้รับสัมปทานให้ปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร โครงการหมู่บ้านป่าไม้ รวมพื้นที่ทั้งหมด 4,401 ไร่ ทำให้เกิดการผลักดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านคัดค้านมาโดยตลอด กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะกรรมการด้วย จนมีมติเมื่อ พ.ศ.2548 ว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง
หลังจากนั้น มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกหลายครั้ง และมีมติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ ให้รัฐยกเลิกโครงการสวนป่าคอนสาร และคืนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้าน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดำเนินงานใด ๆ กระทั่ง พ.ศ.2552 ออป. ได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ซึ่งขณะนั้นศาลพิพากษาให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่ขบวนการต่อสู้ในชั้นศาลดำเนินการเรื่อยมา กระทั่งมีการปิดหมายบังคับคดีให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในวันที่ 27 ส.ค. นี้
รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า ทีมงานพรรคอนาคตใหม่ตั้งใจเดินทางมารับฟังปัญหาพี่น้องโดยตรง หลาย ๆ เรื่องเป็นปัญหาที่ตกค้างมายาวนานหลายทศวรรษ หลายเรื่องก็เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องรีบหาทางแก้ไข เพราะเป็นเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ตั้งแต่ก่อนตั้งพรรค และอยู่ในนโยบายของพรรค โดยยืนยันจะใช้กลไกทางการเมืองในฐานะฝ่ายที่พอมีอยู่ ผลักดันเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการตั้งกระทู้ถามถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ
ส่วนเรื่องการตั้งญัตติ การตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะเจาะจง มีนายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค เสนอญัตติขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ไปแล้ว ซึ่งสามารถเชิญคนนอกเข้ามาร่วมประชุมได้ ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ได้เสนอญัติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออกประทานบัตรกรณีเหมืองแร่ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน
รศ.ปิยบุตร ยังกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างเรื่องทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของรัฐ หรือเรื่องของชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการร่วมกัน วิธีคิดที่ว่า อะไรที่เป็นของป่าสงวนหรืออุทยาน รัฐเป็นเจ้าของ รัฐมีสิทธิจัดการทุกอย่าง วิธีคิดเหล่านี้เป็นปัฐหาเรื้อรังมาหลายทศวรรษแล้ว ปัญหาก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ไม่จบไม่สิ้น
ด้าน นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่ตนอยากจะทำในฐานะฝ่ายค้าน คือ เรียกร้องไปถึงคณะรัฐมนตรี ผู้แทนในรัฐสภา และคนไทยทุกคน ว่า เรื่องป่าทับที่ที่เกิดขึ้น ตนอยากผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเรื่องของที่ดินไม่ใช่เป็นเรื่องแค่เกษตรกร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างเดียว ถ้าท่านเป็นมีภาวะเป็นผู้นำที่ดี ท่านจะต้องการให้ประชาชนในประเทศ 70 กว่าล้านคน สามารถลืมตาอ้าปากได้ แล้วเศรษฐกิจจะมาจากฐานราก และประชาชนจะสามารถเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้ และงบประมาณหลาย ๆ ส่วนก็อาจจะไม่ต้องใช้ นี่คือวิธีแก้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและรวดเร็วมากที่สุด
นายพิธา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ แต่เพียงที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นมหาดไทย กลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่กระทรวงการคลัง ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งสิ้น ตนจึงคิดว่าต้องเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมาได้แล้ว ถ้าแก้กฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้อง สามารถแก้ไข้ปัญหาได้ทั้งระบบ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ด้าน นายอภิชาติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้เป็นตัวแทนของ ส.ส.อีสาน พรรคอนาคตใหม่ ยื่นหนังสือ ถึงรัฐมนตรีกระทรวงว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามหนังสือร้องเรียนชาวบ้าน ให้แก้ไขปัญหาบังคับคดีปัญหาที่ดิน ป่าทับที่ ที่ทับป่า ของพี่น้องประชาชนโดยด่วน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือ การใช้กลไกในรัฐสภา การตั้งทู้ถามถึงรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน และข้อกฎหมายต่าง ๆ โดยยืนยันว่าจะไม่ให้ประชาชนถูกรังแกด้วยข้อกฎหมาย เพราะเป็นพรรคของมวลชน ทำเพื่อประชาชนอย่างจริงใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เครือข่ายที่ดินอีสาน - อนาคตใหม่" จี้รัฐใช้นโยบายแก้ปัญหาที่ดิน
อดีต คปร. - ไบโอไทย ช่วยติดกระดุม 5 เม็ด แนะรัฐแก้ปัญหาที่ดิน
"พิธา" เสนอติดกระดุม 5 เม็ด นโยบายแก้ปัญหาเกษตรกร