ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถนนพระราม 2 สร้างไม่รู้จบ หวั่นซ้ำรอยยุค “ถนนเจ็ดชั่วโคตร”

สังคม
12 ก.ค. 62
20:26
38,125
Logo Thai PBS
ถนนพระราม 2 สร้างไม่รู้จบ หวั่นซ้ำรอยยุค “ถนนเจ็ดชั่วโคตร”
ไทยพีบีเอสหาคำตอบ ทำไมถนนพระราม 2 ถึงสร้างและซ่อมถนนไม่เสร็จสักที และสาเหตุรถติดทุกช่วงเวลาเกิดจากปัญหาการก่อสร้างเพียงอย่างเดียวหรือไม่ คำตอบพบว่ามีหลายปัจจัย

ติดอะไรกันนักกันหนา คงเป็นคำถามของคนใช้รถผ่านถนนพระราม 2 ที่ไปเมื่อไหร่ก็จะประสบปัญหาดังกล่าวแน่นอน สังคมชี้ต้นตอของปัญหาไปที่การก่อสร้าง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการก่อสร้างมีส่วนให้การจราจรติดหนักจริง แต่ยังมีปัจจัยอื่นมากกว่านั้น

การปรับถนนพระราม 2 มีการก่อสร้าง 3 ช่วง ตั้งแต่วงแหวนรอบนอก-แสมดำ / แสมดำ-วัดพันท้ายนรสิงห์ / วัดพันท้ายนรสิงห์-มหาชัยเมืองใหม่ ระยะทาง 11 กิโลเมตร โดยปรับขยายเลนช่องทางหลักจาก 3 เลนเป็น 4 เลน และทางคู่ขนานจาก 2 เลน เป็น 3 เลน โครงการนี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางปี 2561 ถึงเดือนสิงหาคมปี 2563

 

ถนนพระราม 2 มีรถสัญจรผ่านกว่า 2.7 แสนคันต่อวัน เพราะเป็นเส้นทางหลักลงสู่ภาคใต้และมีโรงงานตลอดเส้นทางเกือบ 10,000 โรงงาน

ตัวเลขจากการเก็บสถิติของกรมทางหลวง คาดว่า ปัจจัยรถติดมี 3 ส่วน ได้แก่ 1. อุบัติเหตุ 40% 2.รถเสีย 40% 3.ก่อสร้าง 20% แม้การก่อสร้างจะมีส่วนน้อยในมุมมองของเจ้าหน้าที่ แต่ผ่านมา 1 ปี การก่อสร้างการขยายทางคู่ขนานยังไม่เสร็จ การขยายทางหลักยังไม่เริ่ม แต่ปัญหารถติดหนักยิ่งขึ้น ประชาชนจึงตั้งคำถามกับการทำงานของกรมทางหลวงและผู้รับเหมา และโทษว่าเป็นต้นตอของปัญหารถติด

ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่ตรวจสอบหลายครั้งพบว่า การก่อสร้างมีส่วนจริง แต่ปัญหามาจากหลายสาเหตุ คือ

1.ขาดการจัดการปัญหาร่วมกัน ช่วงเริ่มโครงการผู้รับเหมาจะทำงานได้เฉพาะช่วง 22.00 - 04.00 น. เท่านั้น เพราะตำรวจจราจรไม่อยากให้ทำในช่วงเช้าเพราะรถติด แต่เมื่อเลือกเดินหน้าก่อสร้างเต็ม 24 ชั่วโมง ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าโครงการขยายทางคู่ขนานเกือบเสร็จ 100% ในอีก 3 เดือน

2.ปัญหาใหญ่อยู่ที่แบบก่อสร้าง นายช่างผู้รับผิดชอบโครงการพบว่า การออกแบบ "ผิวถนน" บางกว่าที่ควรจะเป็น เพราะตามแบบกำหนดให้ผิวถนนหนาแค่ 13 เซนติเมตร ซึ่งถนนหลักที่มีรถบรรทุกวิ่งผ่านจำนวนมาก ควรจะมีผิวถนนหนากว่า 20 เซนติเมตร ที่สำคัญหากปล่อยให้มีการก่อสร้างตามแบบ จะทำให้ถนนเส้นนี้อยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี ก็ต้องมีการปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ กรมทางหลวงใช้เวลากว่า 1 ปี แก้ไขผิวถนน แต่ยังแก้ไม่เสร็จ

 

นายชุมพล ทองดีมาก นายช่างโครงการฯ กรมทางหลวง ระบุว่า ปัญหาข้างต้นส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบฯ ของผู้รับเหมา เพราะเมื่อแบบไม่เสร็จก็ไม่สามารถเบิกเงินมาก่อสร้างได้ ผู้รับเหมาจึงเลือกไปกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการในตอนนี้

การแก้ไขแบบ ทำให้งานส่วนหนึ่งล่าช้า และการแก้ไขแบบก็มีผลกระทบกับสภาพคล่องของผู้รับจ้างเช่นกัน

ขั้นตอนการก่อสร้าง เริ่มต้นที่กรมทางหลวงจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกแบบ เมื่อได้แบบก็จะมีผู้ตรวจรับโครงการ ก่อนจะส่งแบบไปยังนายช่างควบคุมโครงการและผู้รับเหมา แต่กรณีนี้กลับพบว่า ผิวถนนตามแบบบางกว่าที่ควรจะเป็นและยังพบปัญหาอื่น เช่น ไม่มีรายละเอียดการวางระบบท่อ

 

ประชาชนไม่ได้กังวลกับปัญหาการปรับปรุงถนนที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังกังวลกับโครงการอื่น ๆ ที่จะตามมา โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางด่วนตลอดแนวถนนพระราม 2 ที่เริ่มเดินหน้าระยะที่ 1 แล้ว โดยเป็นช่วงเดียวกับที่มีการปรับปรุงถนน

ยุทธศาสตร์กรมทางหลวงอีก 5 ปี ข้างหน้า จะมีโครงการก่อสร้างทางด่วนต่อเนื่องตลอดสาย เริ่มจากทางขึ้นที่บางโคล่ (พระราม 3) สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 สร้างทางด่วนชั้นที่ 2 คร่อมกับทางด่วนเดิมช่วงลงทางด่วนดาวคะนอง และลาดยาวมาถึงวงแหวนตะวันตก(บางขุนเทียน)
โครงการช่วงนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการใช้วงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาแล้ว แต่มีปัญหาฟ้องร้องในบางสัญญา

ช่วงต่อมาคือ ทางด่วนช่วงวงแหวนตะวันตก(บางขุนเทียน) ลากยาวไปถึงบ้านแพ้ว ระยะทางกว่า 25 กิโลเมตร

 

โครงการระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างแล้ว โดยมีกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ ความยาวกว่า 10 กิโลเมตร เริ่มจากวงแหวนตะวันตก(บางขุนเทียน) - เอกชัย มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางทับซ้อนกับการปรับปรุงถนนในขณะนี้ เริ่มก่อสร้างปีนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2563

โครงการระยะที่ 2 สร้างต่อไปจนถึงบ้านแพ้ว เป็นโครงการก่อสร้างร่วมกับเอกชน มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างในปี 2564 และเสร็จปี 2567

การก่อสร้างตลอดแนวเส้นทางพระราม 2 ทำให้ประชาชนกังวลว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยการก่อสร้างถนนพระราม 2 ช่วงปี 2532 -2546 รวม 14 ปี ขยายถนนจาก 4 เลน เป็น 10 เลน การก่อสร้างไม่รู้จบ นำไปสู่การตั้งฉายาถนนเส้นนี้ว่า "ถนนเจ็ดชั่วโคตร" การก่อสร้างรอบใหม่ที่ตอนนี้เริ่มแค่การปรับถนนและก่อสร้างทางด่วนระยะที่ 1 ซึ่งมีปัญหารถติดหนัก จนกลัวว่าจะเป็น "ถนนเจ็ดชั่วโคตรรอบใหม่"

 

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รักษาการวิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักแผนงาน กรมทางหลวง ยืนยันว่าประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย เพราะการก่อสร้างช่วงนั้น เป็นการรื้อโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจึงใช้เวลานาน แต่รอบนี้ปรับขยายถนนแค่11 กิโลเมตร ส่วนการสร้างทางด่วนตลอดแนวถนนพระราม 2 จะใช้พื้นที่เกาะกลางถนนแค่ 5 เมตร เท่านั้น

ผมมั่นใจว่าการก่อสร้างในครั้งนี้ จะไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์แบบเดิม เพราะผู้รับจ้างเรามีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น และมีแผนก่อสร้างชัดเจน

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจระดับชาติ แต่เป็นปัญหาการบริหารจัดการของกรมทางหลวง ตั้งแต่ปัญหารถติดเฉพาะหน้า ที่กรมทางหลวงต้องคุยกับหน่วยงานรับผิดชอบการจราจรในพื้นที่ และปัญหาใหญ่อย่างการแก้แบบ ที่จะลดผลกระทบต่อการก่อสร้างหน้างาน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบฯ เพราะหากแก้ไม่ได้โครงการอาจล่าช้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง