ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะอดีตวัดพระมหาธาตุฯเมืองนคร สะท้อนความล้ำค่าสู่มรดกโลก

สังคม
7 ก.ค. 62
14:17
6,914
Logo Thai PBS
เจาะอดีตวัดพระมหาธาตุฯเมืองนคร สะท้อนความล้ำค่าสู่มรดกโลก
จ.นครศรีธรรมราช เดินหน้าเตรียมเอกสารฉบับสมบูรณ์ "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" ขอขึ้นบัญชีมรดกโลก คาดส่งเข้าศูนย์มรดกโลก ม.ค.63 ดึงเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม สำรวจโครงสร้างวางแผนอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

การผลักดัน "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" จ.นครศรีธรรมราช สู่มรดกโลก ขณะนี้ใช้เวลาไปแล้ว กว่า 6 ปี ที่จะต้องจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี หลังได้รับการรับรองจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อปี 2556 ให้อยู่ใน “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2,4,6 ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งจัดทำเอกสารข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาอีกครั้ง

นายฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กล่าวถึงความคืบหน้า ว่า จ.นครศรีธรรมราช ได้จัดทำแผนด้านคุณค่าความโดดเด่นและแผนการสร้างการความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงกระบวนการในการดูและรักษา แต่ยังขาดข้อมูลด้านแผนการอนุรักษ์คุ้มครองโบราณสถาน ซึ่งแผนการจัดการการอนุรักษ์ดังกล่าว ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งสำคัญที่ต้องใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

จ.นครศรีธรรมราช จึงได้ร่วมกับคณะวิจัยชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดทำแผนอนุรักษ์และคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม สิ่งนี้ทำให้เชื่อมั่นให้ได้ว่า หากวัดพระธาตุวรมหาวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วจะได้รับการดูแลที่เหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ภายในเดือน ก.ย.นี้ จะสามารถส่งเอกสารฉบับสมบูรณ์ให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณารูปแบบในเบื้องต้น หากต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจะมีการส่งกลับมาเพื่อแก้ไข ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการมรดกโลก ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้พิจารณาอีกครั้งในช่วงเดือน ม.ค.2563

เทคโนโลยีสร้างฐานข้อมูล วัดพระมหาธาตุฯ เมืองนคร

 

นักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขาจึงรวมตัวกัน เพื่อจัดทำฐานข้อมูล “วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ” ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและแม่นยำที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจของโครงการวิจัยนี้ คือ การจัดทำฐานข้อมูลแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์โครงสร้าง ของโบราณสถาน ด้วยการใช้เทคนิควิธีและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตามหลักวิศวกรรม เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ในอนาคต

ทีมวิจัยนำโดย รศ.นคร ภู่วโรดม หัวหน้าชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการอนุรักษ์ ว่า โบราณสถานหลายแห่งรวมถึงที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ยังขาดข้อมูลปัจจุบันของโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นด้านขนาด รูปทรง การประมาณค่าความเอียง รอยแตกร้าว คุณสมบัติเชิงวิศวกรรม และปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงและส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง เช่น แรงสั่นสะเทือนจากการจราจร แรงลม แผ่นดินไหว ทำให้เกิดปัญหาการขาดข้อมูล เพื่อตัดสินใจป้องกันความเสียหาย รวมถึงการวางแผนในการบูรณะซ่อมแซม

รศ.นคร อธิบายถึงภารกิจของทีมวิจัย ในครั้งนี้ว่า ประกอบด้วย การสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูลรูปทรง ด้วยการใช้เทคนิค 3D สแกน การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์, เครื่องมือการวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าในแนวดิ่ง และการใช้โดรนบินสำรวจถ่ายภาพ สร้างแบบจำลอง 3 มิติ, การใช้เครื่องมือในการตรวจวัดการสั่นไหวจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ

ครอบคลุมพื้นที่ภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และโบราณวัตถุ เช่น องค์พระธาตุเจดีย์ และเจดีย์ราย สำรวจภายใต้พื้นดินบริเวณโดยรอบโครงสร้าง ข้อมูลเหล่านี้ สามารถนำมาวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของวัตถุ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัววัตถุในอนาคตได้ และเพราะต้องคำนึกว่าต้องเป็นการสำรวจแบบไม่ทำลาย เทคโนโลยีจึงถูกดึงเข้ามาช่วย

รศ.นคร กล่าวว่า ขณะนี้ งานวิจัยได้เก็บข้อมูลของโครงสร้าง “องค์พระธาตุเจดีย์” นำมาวิเคราะห์ประมวลผล พบว่า เอียง 1.45 องศา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยืนยันว่า โครงสร้างยังมีความมั่นคงปลอดภัย ภายใต้น้ำหนักของตัวเอง และการรับน้ำหนักของดินฐานราก เนื่องจากชั้นพื้นดินบริเวณวัดมีสภาพแข็ง ส่วนการวิเคราะห์การสั่นสะเทือนจากการจราจร มีผลกระทบต่อความมั่นคงต่อโครงสร้างน้อยมาก เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการห้ามรถบรรทุกวิ่งผ่านถนนราชดำเนิน

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ด้านวิศวกรรม มาใช้กับงานสำรวจ ติดตามโบราณสถาน เพื่อวางแผนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

ก่อนหน้านี้ เคยทำขั้นตอนที่กคล้ายกันนี้ ในพื้นที่โบราณสถานอื่นๆ เช่น วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา แม้กระทั่งในกรุงเทพมหานครด้วย การเรียนรู้ที่ผ่านมาถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทุกขั้นตอนมีความละเอียด และสามารถนำไปปรับใช้กับโบราณสถานอื่นๆ ในประเทศไทยได้อีก นับเป็นการต่อยอดงานอนุรักษ์ให้โบราณสถานอย่างยั่งยืนตลอดไป

ด้าน ผศ.กฤษฎา ไชยสาร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ อธิบายให้เห็นภาพ ใช้โดรนบินสำรวจ เจดีย์วัดพระมหาธาตุฯ โครงสร้างโดยรอบวัด ว่า การทำการสำรวจแบบนี้ มีข้อดีว่า สามารถปิดจุดบอดในการสำรวจได้ เนื่องจากสถานที่บางจุด เป็นจุดที่คนไม่สามารถเข้าไปถึงได้ เช่น การสำรวจสภาพโครงสร้างจากมุมสูง หรือในพื้นที่ที่ไม่สามารถตั้งกล้องได้ วิธีการนี้สามารถเก็บรายละเอียดข้อมูลได้ดีมาก ในระดับที่หากมีรอยร้าว บนพื้นผิวก็มองเห็น ข้อมูลส่วนนี้จะถูกนำมาทำแบบจำลอง 3 มิติ นำมาใช้ในการประมาณค่าความเอียงของเจดีย์ และยังสามารถประเมินความเสียหายของโครงสร้างภายนอก ในการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ตอนแรกคิดว่าองค์เจดีย์เป็นสีขาว จะทำให้เทคโนโลยีมีข้อจำกัด แต่ก็สามารถเก็บข้อมูลได้

 

แบบจำลองยังสามารถนำไปต่อยอดรวมกับเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) ให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ โดยไม่ต้องเข้าไปในสถานที่จริง และไม่เพียงเท่านั้น แบบจำลองยังสามารถต่อยอดไปสู่มิติอื่นๆ ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย เช่น การทำโมเดล 3 มิติ เพื่อจำหน่ายนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ข้อมูลแบบจำลอง 3 มิติ สามารถนำไปประเมินวิเคราะห์ เพื่อใช้เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวัตถุ ได้อย่างละเอียด ในอดีตกว่าเราจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปทรงของโครงสร้าง ต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เร็วขึ้น

นอกจากการสำรวจเก็บข้อมูลมุมสูงแล้ว ผศ.ชัยณรงค์ อธิสกุล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังพาไปเก็บข้อมูลจากภาคพื้นดินบ้าง

ผศ.ชัยณรงค์ อธิบายการทำงานของเครื่องสแกน 3 มิติ ว่าจะเก็บข้อมูลโดยรอบ ในแนวราบและแนวดิ่ง กรณีวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทีมงานมีจุดตั้งกล้องไม่น้อยกว่า 100 จุด ซึ่งขณะนี้เก็บข้อมูลไปแล้ว กว่า 70 จุด ด้วยวิธีการเดินสำรวจ จากข้อมูลนี้ สามารถบอกได้ว่าองค์เจดีย์มีความสูงเท่าไร เอียงเท่าไร ซึ่งพบว่าค่าระดับยังมีความสม่ำเสมอและมีเสถียรภาพอยู่ในระดับที่ดี

 

การทำงานในลักษณะนี้เป็นการใช้เทคนิคสมัยใหม่ร่วมกับการประเมินในเชิงอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นการสำรวจจะไม่สร้างความเสียหายกับโครงสร้าง อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ก่อนประเมินความเสี่ยงว่าโบราณสถาน จะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และต้องวางแผนในการอนุรักษ์ยังไง

การเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ถือว่ามีความยั่งยืน เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลแบบดิจิทัล ไม่มีปัญหาเรื่องของการสูญหายของเอกสาร หรือการนำไปศึกษาต่อยอดในอนาคต ทั้งในเชิงวิศวกรรมหรือแม้กระทั่งทางโบราณคดี และนำข้อมูลมาพัฒนาต่อยอดในมิติต่างๆ ได้อีก เช่นในด้านการท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลใต้ดินด้วยเครื่องมือธรณีฟิสิกส์ เพื่อหาว่าภายใต้พื้นดินนั้นมีอะไรอยู่บ้าง เพื่อที่อาจจะพิจารณาขุดขึ้นมาทำการตรวจสอบต่อไป

5 มรดกโลกของไทย 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ทั้งหมด 5 แห่ง แบ่งเป็นประเภทสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม 3 แห่ง และทางธรรมชาติ 2 แห่ง ดังนี้

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

ภาพ : สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

1.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534 ที่กรุงคาร์เธจ ประเทศตูซิเนีย

2.เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร) จ.สุโขทัย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2534 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย

3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คลอบคลุมพื้นที่ จ.ตาก อุทัยธานี และกาญจนบุรี ขึ้นทะเบียน เมื่อ 2534 

4.แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อ 2535 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา

5.ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ครอบคลุมพื้นที่ จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อ 2548  ที่เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

อ่านเพิ่ม : มรดกโลกของไทย มีอะไรบ้าง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง