ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤต! ขยะฆ่าเต่าทะเลหายาก 3 เดือนตาย 4 ตัว

สิ่งแวดล้อม
3 ก.ค. 62
13:57
7,264
Logo Thai PBS
วิกฤต! ขยะฆ่าเต่าทะเลหายาก 3 เดือนตาย  4 ตัว
สลดรับวันปลอดถุงพลาสติก ยังเจอ "เต่าทะเล" สังเวยขยะทะเล ถุงพลาสติก อวน หนังยางในท้องตายหลายตัว เพียงแค่ 3 เดือนเจอเต่าเกยตื้นตาย และยังมีชีวิต 10 ตัว ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ระบุสะเทือนใจ 25 ปี ยังต้องนับจำนวนเต่าทะเลตาย จี้ใช้โดรน-ดาวเทียมตามแพขยะ

วันนี้ (3 ก.ค.2562) เนื่องจาก 3 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล หลายหน่วยงานรณรงค์ปัญหาสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเตย โดยเฉพาะเต่าทะเล โลมา ซึ่งหนึ่งสาเหตุตายมาจากการติดขยะ และบางตัวพบว่ามีขยะในท้อง

ล่าสุดศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ โพสต์ภาพที่สะเทือนใจว่า เมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ (ศอพต.) ได้รับแจ้งจากคุณอมรา เครือข่ายประสานงานสัตว์ทะเลหายากว่าพบซากเต่าทะเล เกยตื้นตายที่บริเวณหน้าร้านอมรา วอเตอร์สปอร์ต หาดนาจอมเทียน ซอย 14 จ.ชลบุรี

เบื้องต้นหลังจาก พ.ญ.กรกมล กิติกัมรา สัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตรวจสอบพบว่าเป็นเต่ากระ ขนาด 26x28 เซนติเมตร ตัวผู้ช่วงอายุ 1 ปี ไม่พบเลขรหัสไมโครชิพ สภาพซากเน่ามากสภาพภายนอก ตัวบวมพอง ตาบวมทั้งสองข้าง เกล็ดบริเวณกระดองเน่าหลุดลอก ทั้งตัวสาเหตุเกิดจากขบวนการแปรสภาพซาก ก่อให้เกิดแก๊สภายในลำตัว นอกจากนั้นยังพบว่าขาหลังซ้ายแหว่ง

ผลชันสูตร พบขยะทะเลจำพวกชิ้นส่วนพลาสติกแข็ง เศษถุงพลาสติก เชือกอวน หนังยาง ตลอดทางเดินอาหารส่วนปลาย จึงนำมาสรุปผลการเสียชีวิตเบื้องต้น
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ซึ่งรายงานสถานการณ์เต่าทะเลเกยตื้นพบว่าในช่วง 2 เดือนระหว่างพ.ค.-ก.ค.นี้ มีทั้งเต่าทะเลตาย และเกยตื้นยังมีชีวิตอยู่ระหว่างการรักษา รวม 10 ตัว ดังนี้ 

  • 1 ก.ค. ชาวประมงพื้นบ้านได้นำเต่าทะเลสภาพติดอวนมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่อุทยาน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา พบเป็นเต่ากระ ไม่พบบาดแผลภายนอก แต่ค่อนข้างผอม 
  • 30 มิ.ย.เต่าเกยตื้นตาย หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี เจอขยะ ถุงพลาสติก หนังยาง
  • 30 มิ.ย. เต่าติดอวนประมง ในทะเลเกาะพีพี ชาวเลช่วยไว้ได้  
  • 18 มิ.ย. เต่ากระตัวผู้ เกยตื้น หาดนาจอมเทียน จ.ชลบุรี
  • 18 มิ.ย. เจอเต่าตนุ อายุ 4 ปี บริเวณอ่าวอุดม จ.ชลบุรี ไม่พบหมายเลขไมโครชิพ และตายเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.พบก้อนหนองบริเวณระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร พบเชือกเอ็นและพลาสติกในระบบทางเดินอาหาร
  • 13 มิ.ย. เต่ากระ บาดเจ็บเกยตื้นหาดพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบบาดแผลทีบริเวณหลังเกล็ดกระดองจำนวน 2 แผล ความยาวประมาณ 3 ซม. คาดว่ากระแทกกับของแข็งเช่นเรือ หรือใบพัดเรือ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการรักษา 
  • 10 มิ.ย. เต่ากระตัวเมีย ช่วงอายุโตเต็มวัย เกยตื้นตายหาดดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีไม่พบเลขรหัสไมโครชิพ สภาพภายนอก ตัวบวมพอง กระดองแตก ไม่พบขยะทะเลและสิ่งแปลกปลอม
  • วันที่ 2 มิ.ย. เต่ากระเกยตื้นมีชีวิต บริเวณหาดนางนภาธารภิรมย์ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง อยู่ในระหว่างขั้นตอนการรักษา 

  • 31 พ.ค.เจอเต่าตนุตาย หาดดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ผลชันสูตร อวัยวะภายในยุ่ยสลายเกือบทั้งหมด ในระบบทางเดินอาหารพบอาหารจำพวกสาหร่ายทะเล และพบขยะทะเลเพียงเล็กน้อย จำพวก เชือกอวนไนล่อนสีขาว อยู่ภายในปะปนกับอาหาร

  • 26 พ.ค.ลูกเต่ากระอายุประมาณ 6 เดือน เกยตื้นหาดนางรอง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 

ภาพ: ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

ภาพ: ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

ภาพ: ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

สะเทือนใจ 25 ปีเต่าทะเลยังตายเพิ่ม 

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ค่อนข้างตกใจที่พบว่าในช่วง 3-4 วันนี้ เจอเต่าทะเลติดเศษอวน และเกยตื้นถี่มากรวม 5 ตัว  ซึ่งบางตัวโชคดีไม่ตาย เช่นเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี  อุทยานเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และภูเก็ต และยังมีเต่าทะเลที่ติดอวนและชาวประมงช่วยเอาไว้ได้ แต่บางตัวโชคร้ายเกยตื้นตายและมีขยะในท้อง 

ถามว่าสะเทือนใจแค่ไหน ที่ยังมีปัญหานี้เกิดขึ้น ผมรณรงค์เรื่องนี้มา 25 ปีกรณีเต่ากินพลาสติก ผมรู้สึกดีที่มีคนช่วย แต่เศร้ามากที่คนช่วยเยอะ แต่เต่ายังตายเยอะ เหมือนตอนจบยังวัดว่าเต่าตายมากแค่ไหน ตรงนี้หมายความว่าที่ทำมายังไม่พอ ต้องหาทางหยุด ไม่ใช่แค่รณรงค์ หาแผนใหม่

นายธรณ์ กล่าวว่า  ปัญหามาจากขยะทะเลที่สะสมลงไปก่อนหน้านี้ ขยะที่มีปัญหากับสัตว์ทะเล เช่น เต่า โลมา ส่วนใหญ่จะเจอเต่าติดเศษอวนเป็นหลัก ติดที่แพขยะในทะเล มีทั้งเศษอวน และถุงพลาสติก เมื่อปลาเล็กๆ เข้ามาในแพขยะ เต่าจะตามเข้ามากินปลา และติดเศษอวน ต้นเหตุยังมาจากถุงพลาสติก ขยะจากบนบกที่ลงในทะเล ต้องแก้ให้หมด

ตอนนี้รัฐบาลใช้ยาแรง คือการลดขยะแต่ละชนิด เช่น ถุงพลาสติก การเลิกแคปซีล การเลิกใช้กล่องโฟม แก้วน้ำใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลอดพลาสติก ภายในปี 2565 จะต้องทำตามโรดแมป ต้องแบนได้จริง

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดโครงการใหญ่มาก โดยเสนอว่าจะต้องมีระบบขยะติดตามขยะทะเล โดยใช้โดรนหรือดาวเทียมติดตามแพขยะ และติดตามชายหาดที่มีประมาณ 3,000 แห่ง เพราะขยะที่ไหลตามปากแม่น้ำลงไปจะไปเกิดเป็นแพขยะ สร้างเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่จะทำกิจกรรมเก็บขยะใช้ฐานข้อมูลนี้ว่าชายหาดไหนขยะมาก จัดลำกับ 1-5 พื้นที่แล้วลงไปจัดการในช่วงเวลานั้นๆ 

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา

ภาพ:อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา

 

ปลัด ทส.ชวนลดใช้ถุงพลาสติก

ส่วนนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เนื่องจาก 3 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล ที่มีจุดประสงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา จากการที่ทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาขยะล้นเมือง โดยเฉพาะจากถุงพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำด้วย เนื่องจากขยะเหล่านี้ต้องใช้เวลาย่อยสลายนาน

ที่ผ่านมาไทยจัดอันดับประเทศที่มีขยะพลาติกในทะเลอันดับ 6 ของโลก และผลกระทบทั้งต่อมนุษย์และต่อระบบนิเวศ เช่น กรณีวาฬนำร่องตายที่สงขลาปีที่แล้ว ขนาดน้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม พบพลาสติกในกระเพาะ 8 กิโลกรัม รวมถุงพลาสติก 85 ใบ มาจากหลายประเทศ

 

เต่าทะเลตายถี่ขึ้นจากขยะพลาสติก การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลา และมนุษย์ นโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการลด ละ เลิกการใช้พลาสติก การนำมาใช้ประโยชน์และผลดำเนินการ รวมถึงภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาพลาสติกเป็นอันดับต้นๆ

ซึ่งจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีการลดใช้พลาสติกลงและพบว่า มีผู้ให้ความสนใจ ตื่นตัว และตระหนักต่อปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนมากและมีแผนที่นำทาง (Roadmap) ในการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) รวมทั้งการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์อีก

ประเทศไทยผลิตและใช้ถุงพลาสติก ประมาณ 45,000 ล้านใบ และในช่วงที่ผ่านมาเราช่วยกันรณรงค์และลดพลาสติดได้เกือบ 1,600 ล้านใบ ขอบคุณห้างสรรพสินค้าทุกห้างและเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือ ที่เรายังต้องใช้อยู่ ต้องทิ้งให้ถูกที่ และนำกลับมารีไซเคิลให้มากที่สุด เชื่อฉันเราทำได้ คุณก็ทำได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ชวนห้าง-ร้านร่วมงดแจกถุงลดขยะพลาสติก

ข่าวดี ! 8 เดือนไทยลดขยะถุงพลาสติก 1,300 ล้านใบ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง