เฟซบุ๊ก "ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง" ได้เผยแพร่ภาพและข้อมูลเตือนผู้ที่คิดจะเลี้ยงตัว "นาก" ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกเปิดเผยจากกลุ่มคนเลี้ยงนากที่โพสต์เตือนข้อเสียของนาก โดยระบุว่า ให้ศึกษาก่อนเลี้ยง เพราะนากไม่ใช่สัตว์เลี้ยงง่ายเหมือนสุนัขและแมว อีกทั้งยังโมโหร้ายจนอาจทำร้ายผู้เลี้ยงได้ ขณะที่นับวันตัวนากถูกทิ้งขว้างจากผู้เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น
ส่วนข้อเสียในการเลี้ยงตัวนากนั้น นากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงยาก ถ้าเป็นลูกนากต้องป้อนนมเป็นเวลา ฟันคม ซุกซน เล่นแรงกัดแรง หากมีอาการหงุดหงิดอาจกัดจมเขี้ยว ส่งเสียงร้องเสียงดัง อุจจาระและปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังต้องสังเกตอาการป่วยและส่งรักษาที่คลินิกพิเศษเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้โพสต์ยังระบุว่าไม่ได้สนับสนุนให้เลี้ยงตัวนาก เนื่องจากเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่หลงไหลในความน่ารักและตัดสินใจนำมาเลี้ยง ขณะที่หลายคนที่เคยเลี้ยงนากต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าย้อนกลับไปได้จะไม่เอามาเลี้ยงเด็ดขาด พร้อมระบุข้อความทิ้งท้ายว่า "นากเป็นสัตว์น่ารัก ว่างๆ ก็จะกินจระเข้ เล่นๆ ชิวๆ เป็นอาหาร"
"นาก" สัตว์ป่าคุ้มครอง เลี้ยง ล่า ค้า ไม่ได้
ด้านชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง โพสต์เพซบุ๊กให้ข้อมูลเกี่ยวกับนากในประเทศไทยว่ามีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ นากเล็กเล็บสั้น, นากใหญ่ขนเรียบ, นากใหญ่จมูกขน หรือนากใหญ่หัวปลาดุก และนากใหญ่ธรรมดา ซึ่งทุกชนิดเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครอง" และเป็นสัตว์นักล่าโดยธรรมชาติ
หากไม่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถครอบครอง ล่า หรือค้าได้ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และในวันที่ 25 พ.ย.นี้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่จะถูกใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีอัตราโทษสูงขึ้นหลายเท่า
แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ลูกนากจะน่ารักและมีนิสัยขี้อ้อน ไม่ดุร้าย แต่เมื่อโตเต็มวัยอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เนื่องจากนากเป็นสัตว์ป่าและมีสัญชาตญาณเป็นนักล่าที่ต้องต่อสู้ป้องกันตัว รวมถึงช่วงติดสัตว์ที่ต้องแย่งชิงคู่ ทำให้มีพฤติกรรมดุร้าย จึงไม่เหมาะนำมาเลี้ยง
สำหรับการปราบปราบการลักลอบครอบครองตัวนาก ที่ผ่านมาจะเน้นการปราบปรามการค้า โดยเฉพาะการค้าผ่านทางออนไลน์ ส่วนผู้ที่ลักลอบเลี้ยงนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุมเมื่อได้รับแจ้ง แต่สำหรับผู้ที่มีบ้านติดลำคลองและมีตัวนากขึ้นมาอาศัยอยู่ หากไม่กักขัง ทำร้าย หรือกระทำพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาครอบครอง ก็ถือว่าไม่มีความผิด
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมผู้ลักลอบครอบครองตัวนากของกรมอุทยานฯ ในปี 2561 มีจำนวน 9 คดี ยึดตัวนากได้ 23 ตัว จำนวนนี้เป็นนากเล็กเล็บสั้น 12 ตัว, นากใหญ่ขนเรียบ 6 ตัว และลูกนาก 5 ตัว (ไม่ระบุสายพันธุ์) ส่วนสถิติการจับกุมในปี 2562 จนถึงเดือน เม.ย. มีจำนวน 6 คดี ยึดตัวนากได้ 12 ตัว โดยเป็นนากเล็กเล็บสั้น 9 ตัว และนาก 3 ตัว (ไม่ระบุสายพันธุ์)