ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดบันทึกเบื้องหลัง “กบฏยังเติร์ก” พล.อ.เปรม สู้ “ยิงผมให้ตายแล้วปฏิวัติไป”

สังคม
1 มิ.ย. 62
15:45
43,819
Logo Thai PBS
เปิดบันทึกเบื้องหลัง “กบฏยังเติร์ก” พล.อ.เปรม สู้ “ยิงผมให้ตายแล้วปฏิวัติไป”
ในช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี มีความพยายามยึดอำนาจชัดเจน 2 ครั้ง พยายามลอบสังหารอีกหลายครั้ง แต่ พล.อ.เปรม ก็ผ่านสถานการณ์คับขันมาได้ ความพยายามยึดอำนาจครั้งใหญ่ที่สุดคือ กบฏยังเติร์ก หรือที่เรียกกันว่า เมษาฮาวาย

คืนวันที่ 31 มี.ค.2524 เวลา 20.00 น. กลุ่มทหารยังเติร์ก หรือกลุ่มทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7 นำโดย พ.อ.มนูญ รูปขจร กับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร นำกำลังทหารพร้อมอาวุธ ปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ยื่นคำขาดกับ พล.อ.เปรม ว่าจะปฏิวัติ

ในหนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรม ที่คณะผู้จัดทำคือนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม บันทึกบทสนทนาระหว่างทหารกลุ่มยังเติร์กกับ พล.อ.เปรม ไว้ว่า

“มนูญกับประจักษ์ มากันสองคน ก็ถามเขาว่าจะปฏิวัติทำไม เขาบอกว่าผมทำเพื่อป๋า และขอเชิญป๋าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ผมก็บอกว่า ผมไม่ปฏิวัติหรอก ผมปฏิวัติไม่ได้ และไม่ต้องการปฏิวัติด้วย ขอให้เลิกคิด เลิกทำเสียหรือไม่งั้นก็ยิงผมให้ตายแล้วก็ปฏิวัติไป” พล.อ.เปรม กล่าว

การต่อรองระหว่างกลุ่มยังเติร์กกับ พล.อ.เปรม ในบ้านสี่เสาเทเวศร์ เรื่อยไปจนถึงกลางดึกในคืนวันที่ 31 มี.ค. แต่จู่ ๆ ผู้ก่อการที่ควบคุมตัว พล.อ.เปรม ไว้ ก็ปล่อยให้ พล.อ.เปรม ออกจากบ้านสี่เสาเทเวศน์ ไปที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา

“ตอนที่ป๋าลงมาจากข้างบน พี่จักษ์ (พ.อ.ประจักษ์) ยังพูดโทรศัพท์ข้างบน ไม่ได้ลงมาด้วย พวกนั้นคงนึกว่าป๋ายอมแล้ว เลยไม่มีใครขวาง วิ่งมาถึงสี่แยกไทยเจริญ เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าหอประชุมกองทัพบก เลี้ยวขวาที่สี่แยกการเรือน เลี้ยวขวามาทางพระที่นั่งวิมานเมฆ ป๋าก็เข้าวังสวนจิตร” นายทหารรักษาความปลอดภัยเล่าในหนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรม

ในหนังสือเล่มนี้ไม่มีคำตอบว่า ปลายสายที่ พ.อ.ประจักษ์ พูดด้วยนั้นคือใคร และทำไมผู้ก่อการจึงปล่อย พล.อ.เปรม ออกมา

คืนนั้น พล.อ.เปรม เดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาทิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่นั่น

ปฏิบัติการต่อต้านคณะปฏิวัติจึงเริ่มต้นขึ้นที่ค่ายสุรนารี บุคคลสำคัญคือ พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ ยศในขณะนั้น เริ่มใช้ปฏิบัติการจิตวิทยา ออกแถลงการณ์ตอบโต้คณะปฏิวัติ สั่งพิมพ์ใบปลิวที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วใช้เครื่องบินเข้ามาโปรยในกรุงเทพฯ วันที่ 1 เม.ย.

กรุงเทพฯ เวลานั้น มีกองกำลังฝ่ายปฏิวัติประมาณ 40 กองพันควบคุมสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้ ถือเป็นการรวมกำลังพลเพื่อยึดอำนาจมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

วันที่ 2 เม.ย. ฝ่ายต่อต้านคณะปฏิวัติที่ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจสุรนารีและหน่วยเฉพาะกิจชลบุรี หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ รวมถึงเครื่องบินของกองทัพอากาศ ค่อย ๆ เคลื่อนทัพเข้ากรุงเทพฯ ฝ่ายปฏิวัติไม่ต่อสู้เลือกจะหลบหนีไป เหตุการณ์สงบลงวันที่ 2 เม.ย. โดยไม่มีฝ่ายไหนเสียเลือดเนื้อ

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนรัฐบาล พล.อ.เปรม ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมกับผู้ก่อการที่ถูกคุมขัง ยกเว้น พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะผู้ก่อการที่ยังหลบหนี

เมื่อความพยามยึดอำนาจไม่สำเร็จ คณะผู้ก่อการก็กลายเป็นกบฏ หนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรมบันทึกไว้ว่า

“เหนือสิ่งอื่นใด คือเดชะพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เหตุการณ์จึงสงบเรียบร้อยคนไทยไม่ต้องรบกันเอง ไม่มีการนองเลือด”

อีกข้อความในหนังสือระบุว่า ความเป็นนายกับลูกน้องของ พล.อ.เปรม กับนายทหารกลุ่มยังเติร์ก ทำให้ทหารที่ก่อการครั้งนั้นไม่กล้ากักตัว พล.อ.เปรมเอาไว้ ด้วยวิธีการรุนแรง สาเหตุหลักของการก่อกบฏยังเติร์กครั้งนั้น เกิดจากความไม่พอใจการต่ออายุราชการให้ พล.อ.เปรม เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่ออีก 1 ปี และความขัดแย้งในกองทัพจากการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีเปรม 2 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.เปรม อยู่ใน ครม.

รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตคณะที่ปรึกษาของ พล.อ.เปรม วิเคราะห์สิ่งที่ทำให้ พล.อ.เปรม รอดพ้นจากการยึดอำนาจได้จาก 2 ปัจจัย เพราะความไม่เป็นเอกภาพของกองทัพ และบารมีของ พล.อ.เปรม ทำให้ฝ่ายการเมืองในยุคนั้นยอมรับให้ พล.อ.เปรม เป็นเกราะป้องกันทหารเข้ามายึดอำนาจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง