ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจอรอยเท้า "เทอโรพอต"ไดโนเสาร์อายุ 140 ล้านปีบนภูผาเหล็ก

Logo Thai PBS
เจอรอยเท้า "เทอโรพอต"ไดโนเสาร์อายุ 140 ล้านปีบนภูผาเหล็ก
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก สำรวจพบรอยเท้าไดโนเสาร์ 2 กลุ่มนับ 10 รอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ ตรวจสอบเบื้องต้นคาดเป็นกลุ่มเทอโรพอด ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กอายุ 140 ล้านปี

วันนี้ (24 พ.ค.2562) นายรังสรรค์ เหลาภา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยภูผาเหล็ก 1(อ่างกระเฌอ) พร้อมนายอำเภอกุดบาก ปลัดอำเภอกุดบาก และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี จากศูนย์ขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ลงสำรวจพื้นที่บริเวณทิศใต้สำนักสงฆ์ภูดานหลวง ท้องที่บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร พบร่องรอยประวัติศาสตร์ 2 จุด

โดยแต่ละจุดมีร่องรอยบนแผ่นหินนับร้อยรอย ในเบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรนี ระบุเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ 2 ชนิด จำพวกที่กินเนื้อเป็นอาหาร จึงได้ถ่ายภาพเก็บในรายละเอียดนำไปเปรียบเทียบกับร่องรอยที่พบในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อยืนยันความถูกต้องอีกครั้ง เพื่อวางแผนพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

และเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม  ว่ารอยเท้าที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นรอยเท้าที่ปรากฏบนแผ่นหินในหมวดหินพระวิหาร  กลุ่มหินโคราช มีลักษณะทางกายภาพของหิน ประกอบด้วย หินทราย สีขาวปนเหลือง สีส้ม และสีเทา ขนาดเม็ดละเอียดถึงหยาบ และยังมีหินทรายแป้ง และหินโคลนชั้นบางๆแทรกอยู่

ส่วนลักษณะของรอยเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อ ในกลุ่มเทอโรพอต  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างกันมากทางขนาด ตั้งแต่ตัวเท่าไก่จนถึงใหญ่กว่าช้าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เทอโรพอตขนาดใหญ่ และเทอโรพอตขนาดเล็ก

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

พบรอยเท้ากระจายวงกว้าง 2 กลุ่มเร่งสำรวจเพิ่ม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ดร.วราวุธ ยืนยันว่ารอยเท้าที่เจอเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กกลุ่มเทอโรพอต อายุ 140 ล้านปี ซึ่งบริเวณที่เข้าไปสำรวจพบลักษณะของการเดินและเส้นทางเดินของไดโนเสาร์ในพื้นที่รัศมี 100 ตารางเมตร และถือว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจ เนื่องจากรอยเท้ามี 2 กลุ่มกลุ่มขนาดเล็กมีจำนวนมากนับ 10 รอย แต่ละรอยมีขนาดเท่าฝ่ามือคนทั่วไปหรือไม่เกิน 10 เซนติเมตร และกระจายในชั้นหินที่ลดหลั่นกันขนาดกว้าง 5-10 เมตร 

ถือเป็นการค้นพบที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาเคยเจอรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอต ที่ภูแฝก จ.กาฬสินธ์ุ จำนวน 7 รอย เป็นชนิดกินเนื้อขนาดใหญ่ อายุประมาณ 140 ล้านปี ส่วนที่ภูผาเหล็ก เป็นขนาดเล็ก

ตอนนี้ต้องเตรียมเข้าไปสำรวจร่องรอยการเดินของไดโนเสาร์เพิ่มเติม เพื่อดูว่าจะมีรอยเท้าเพิ่มเติมในจุดอื่นๆหรือไม่ เพราะนอกจากรอยเท้าไดโนเสาร์แล้วยังพบรอยเท้าของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มจระเข้ ซึ่งต้องเข้าไปสำรวจเพิ่มเติม 

สำหรับบริเวณที่เจอรอยเท้าไดโนเสาร์ เป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ต้องใช้เวลาเดินเข้าไปในจุดนี้ประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินราว 1 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่ใช่จุดท่องเที่ยว และไม่น่าจะเกิดปัญหาถูกทำลายได้ง่าย

 

 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง