วันนี้ (21 พ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าศาลจังหวัดนครพนม สั่งจำคุกวัยรุ่น 3 คนที่ก่อเหตุทำร้าย-ไล่ฟันคู่อริกลางโรงพยาบาลนาแก เป็นเวลา 12 ปี เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ลดโทษลงเหลือ 8 ปี ล่าสุดยังเกิดเหตุซ้ำและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ค. เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทในงานบุญบั้งไฟ จ.ยโสธร มีผู้บาดเจ็บ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา แต่ปรากฎว่าเรื่องไม่จบ คู่กรณีตามไปทำร้ายซ้ำถึงด้านหน้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ถ่ายคลิปวิดีโอไว้ได้และนำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของการกระทำที่อุกอาจไม่เลือกสถานที่
ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี เป็นภาพที่บันทึกได้จากวิดีโอเช่นกัน เป็นเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทในงานแสดงหมอลำที่ ต.โพนเมือง หลังเหตุการณ์สงบ ผู้บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก แต่คู่อริได้นำมีดบุกเข้ามาทำร้ายร่างการผู้บาดเจ็บที่กำลังนอนทำแผลในโรงพยาบาล เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเสียหายและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
หากดูตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน พบว่าความรุนแรงลักษณะนี้มีมากถึง 51 เหตุการณ์ มากที่สุดคือการทะเลาะวิวาทและการทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งผลจากความรุนแรงทำให้ไทยต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขไปแล้ว 3 คน บาดเจ็บ 13 คน ขณะที่ประชาชนเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 43 คน
สิ่งสำคัญที่ทำให้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเกิดเหตุบ่อยครั้ง เพราะเป็นพื้นที่เปิด ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้เร็ว ญาติเข้าถึงได้ง่ายและผู้ก่อเหตุก็เข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ที่เคยมีเหตุทะเลาะวิวาททั้งในแบบที่คู่อริตีกันเอง และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่หลายครั้ง แต่ขณะนี้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลจะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อีก เนื่องจากโรงพยาบาลได้เพิ่มระบบการรักษาความปลอดภัย
สธ.สร้างระบบป้องกันเหตุรุนแรงใน รพ.
ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีการก่อเหตุทะเลาะวิวาทรุนแรงในโรงพยาบาล 4 เหตุการณ์ คือที่ รพ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา, รพ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์, รพ.แก้งค้อ จ.ชัยภูมิ และ รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขวางมาตรการสร้างระบบความปลอดภัย ด้วยการบูรณาการระหว่างสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน
ในทางกายภาพ โรงพยาบาลที่พร้อมจะมีการกั้นห้องไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปได้ง่าย ประตูห้องฉุกเฉินจะเปิดได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นคนเปิด มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานร่วมกับตำรวจ ตรวจเป็นระยะ ติดกล้องวงจรปิดและลดเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ
นอกจากการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของเหตุรุนแรงในสถานพยาบาล ในโลกออนไลน์ยังตั้งคำถามถึงมาตรการลงโทษ เช่น ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางคนเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่บางคนเปรียบเทียบว่ากว่าจะได้เครื่องมือแพทย์มา หลายครั้งต้องจัดกิจกรรม เช่น การวิ่งของตูน บอดี้แสลม ดังนั้นต้องมีมาตรการลงโทษอย่างจริงจังหรือไม่
หากดูตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีนี้เข้าข่ายความผิดฐานบุกรุกมาตรา 364 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากใช้กำลังประทุษร้ายข่มขู่ ต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 365 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 360 ส่วนกรณีทำให้ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เสียหาย ทำลาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกันต่างประเทศก็เลือกใช้วิธีนี้ เช่น อินเดีย นอกจากเป็นคดีอาญาจะไม่ให้ประกันตัว ส่วนที่อังกฤษ เป็นการขู่ทางวาจาและถ้าพิสูจน์ได้จะได้รับโทษสูงสุด ขณะที่จีน ออกกฎหมายให้แพทย์มีสิทธิป้องกันตัวเอง
แต่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 10 กระทรวงสาธารณสุข มองว่า การลงโทษคือปลายเหตุ เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือโรงพยาบาลต้องจัดระบบ สร้างความเข้าใจระหว่างญาติและผู้ป่วย โดยเฉพาะบางจังหวัดที่มีโรงพยาบาลเล็กๆเพียงแห่งเดียว หากเกิดเหตุการณ์ทำร้ายกันในโรงพยาบาลอีกอาจจะยิ่งเสี่ยงต่อชีวิตและความเสียหายของโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการเพิ่มโทษหรือสร้างการรับรู้ ที่เป็นความพยายามยุติปัญหานี้ แต่สำหรับการป้องกันทางกายภาพ นพ.ธงชัย ยอมรับว่าอาจทำไม่ได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อาจต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องงบประมาณเพิ่มเติม