คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้กระแสเค-ป็อป ในประเทศไทย ยังถือว่าเป็นหนึ่งในคลื่นบันเทิงที่มาแรงและเป็นที่นิยมในวงกว้าง ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะในเอเชียเท่านั้น ยังมีศิลปินเกาหลีมากมายที่ได้ก้าวไปสู่วงการบันเทิงอินเตอร์และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลายคนเริ่มจุดประกายความฝัน และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อที่จะก้าวไปสู่จุดนั้น แต่การจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้ขนาดนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะกับศิลปินเกาหลีที่ขึ้นชื่อเรื่องความมีวินัยและความจริงจังในการฝึกซ้อม
ไทยพีบีเอสออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ “จุลศักดิ์ หาญคุณะเศรษฐ์” หรือ บีน นักแสดงหนุ่ม วัย 32 ปี ควบตำแหน่งดีเจบนคลื่นวิทยุ และบทบาทที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กกับการเป็นศิลปิน-นักร้อง หลังได้ทราบประสบการณ์ของหนุ่มคนนี้ที่เกือบจะได้ไปออร์ดิชันกับค่ายเพลงชื่อดังของเกาหลีใต้
ทำไมถึงได้ไปออดิชันที่เกาหลี ?
แม้จะไม่ได้ติดตามวงการบันเทิงเกาหลีอย่างจริงจัง แต่ด้วยความใฝ่ฝันในวัยเด็ก ทำให้เรียนรู้การร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก หลังจากเข้าเรียนแอคติ้งที่สถาบันแห่งหนึ่ง ก็ได้มีโอกาสพิสูจน์ฝีมือด้านการแสดง แต่ยังคงต้องการทำตามความฝันที่อยากจะเป็นนักร้องอยู่
ช่วงนั้น อายุ 21 ปีมีการเปิดออดิชันสำหรับคนที่ต้องการจะไปออดิชันที่ประเทศเกาหลี โดยต้องผ่านการออดิชันที่ประเทศไทยก่อน จึงตัดสินใจเข้าร่วมฝึกฝนก่อนรับการออดิชัน โดยเน้นเรื่องการร้องเพลง และได้ไปเรียนเต้นพื้นฐาน 1 เพลง ซึ่งมีคนผ่านการออดิชันเพื่อไปเก็บตัวฝึกซ้อมต่อที่เกาหลีก่อนเข้าออดิชันอีกครั้ง ซั่งมีผู้ผ่านเข้ารอบ 6 คน
ฝึกซ้อมอย่างไรก่อนเข้าออดิชัน ?
ขณะนั้น การฝึกถูกแบ่งออกเป็นคอร์สระยะสั้น ฝึกที่ประเทศไทย 3 สัปดาห์ ฝึกที่เกาหลี 3 สัปดาห์ ซึ่งตารางการฝึกแทบไม่ต่างกัน แต่วิธีการของคุณครูแต่ละที่ไม่เหมือนกัน โดยที่ประเทศไทยผู้ฝึกสอนมีความเป็นครูในการให้ความช่วยเหลือ ฝึกซ้อมมากกว่า แต่ที่เกาหลีมีความเป็นมืออาชีพ จริงจัง และสอนท่าเต้นให้ทันที เพราะคิดว่าทุกคนเต้นเป็นแล้ว "แต่เรื่องเต้นเราเริ่มจากศูนย์"
ภาพ : Been Julasak Hankunaseth
ตารางที่ฝึกหัดก่อนออดิชันกับเอเจนซีที่เกาหลี
- 08.00 – 09.00 น. วอร์มเสียง
- 09.00 – 12.00 น. เรียนร้องเพลง
- 12.00 – 13.00 น. พักกลางวัน
- 13.00 – 16.00 น. เรียนเต้น
- 16.00 – 17.00 น. พักรับประทานเข้าเย็น
- 17.00 - ..... เรียนแอคติ้ง
ต้องบอกก่อนว่า การออดิชันในครั้งนี้ เป็นขั้นแรกของการก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงเกาหลีจริงๆ เพราะเหมือนเป็นการออดิชันกับเอเจนซีอีกขั้นหนึ่ง หากเราผ่านการออดิชันนี้ เขาจะพิจารณาบุคลิกและคุณสมบัติของเรา เพื่อป้อนให้ค่ายเพลงเกาหลีที่เหมาะสม
D-Day วันชี้ชะตา ในห้องออดิชัน ต้องทำอะไรบ้าง ?
เมื่อถึงวันออดิชัน หลังจากเข้าไปในห้องก็พบกับกรรมการนั่งรอเราอยู่ 6 คน เพื่อดูเราคนเดียว แล้วก็มีตัวแทนจากไทยอีก 2 คน และล่าม 1 คน ตอนแรกที่เข้าไปในห้องเขาก็ให้แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนตัวในตอนนั้นพอจะได้ภาษาเกาหลีพื้นฐานบ้าง ก็แนะนำตัวไปเป็นภาษาเกาหลีด้วย
จากนั้นเขาก็เริ่มให้ร้องเพลงที่เราเตรียมมา สำหรับการออดิชันที่เกาหลี ทุกคนจะต้องเตรียมเพลงที่จะร้อง 2 เพลง เพลงแรกเป็นเพลงภาษาอะไรก็ได้ แต่เพลงที่ 2 ต้องเป็นเพลงภาษาเกาหลี
เพลงภาษาเกาหลีถือเป็นความท้าทายของเรามาก เพราะเราไม่เคยร้องมาก่อน จนต้องจดเป็นภาษาคาราโอเกะ แล้วร้องเลียนเสียงต้นฉบับ โดยเพลงที่เลือกเป็นเพลงประกอบซีรี่ส์ ซึ่งเป็นเพลงที่มีเร้นท์เสียงพิเศษ ด้วยภาษาเกาหลีที่ไม่เหมือนการร้องภาษาไทย ต้องเรียนรู้ว่าจะขึ้นเสียงอย่างไรให้สูงขนาดนั้น
แต่ด้วยวัยที่ขึ้นเลข "2" แล้ว ทำให้พลาดโอกาสไป กรรมการบอกกับบีนว่า เขาอายุมากเกินกว่าที่จะเริ่มต้นเรียนภาษาเกาหลี ซึ่งเป็นบททดสอบที่ยากที่สุด เพราะรากภาษาและความเข้าใจในภาษาต้องใช้เวลาพอสมควร นอกจากนั้นการพัฒนาทักษะการเต้นเพิ่มเติมก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เพราะเคป็อป สิ่งสำคัญ คือ เรื่องของการเต้น จริงๆ คนที่เหมาะสมคงต้องอายุประมาณ 16-17 ปี เพราะเป็นช่วงวัยที่ยังมีเวลาเรียนรู้และฝึกฝน และเป็นวัยที่สามารถดูแลตัวเอง อยู่คนเดียวได้
อยากไปเป็นเด็กฝึกเพื่อเดบิวต์เป็นศิลปินเกาหลี?
ต้องบอกก่อนว่า สำหรับใครที่ชื่นชอบไอดอลไทยอย่างลิซ่า Blackpink นิชคุณ 2PM หรือแบมแบม GOT7 จนอยากที่จะก้าวไปเป็นศิลปินที่เกาหลี ต้องถามตัวเองก่อนว่า
เราแค่เห็นลิซ่าเป็นไอดอลหรือเปล่า เห็นว่าเป็นคนๆ หนึ่งที่ดังหรือเปล่า แล้วลองศึกษาดูว่ากว่าจะเป็นลิซ่าในวันนี้ น้องเขาผ่านอะไรมาบ้าง พี่ไปฝึกที่เกาหลีแค่ 3 อาทิตย์ ยังหนักมาก แต่ลิซ่าใช้เวลา 3-5 ปี กว่าจะมาเป็นลิซ่าตอนนี้ มันหนักแน่นอน มันต้องแลกด้วยทั้งชีวิต เพื่อการซ้อม ออกไปไหนไม่ได้เลย คุณพร้อมหรือเปล่า?
ในส่วนตัวที่บอกว่ามันหนัก ไม่ใช่เรื่องร่างกาย แต่เป็นการทำในสิ่งที่เราไม่สามารถก้าวข้ามสิ่งๆ หนึ่งไม่ได้สักที อย่างการจำท่าเต้น มันทำให้เรากดดันว่า ทำไมเราทำไม่ได้สักที มันหนักเรื่องสภาพจิตใจ
หากคุณมั่นใจและต้องการไปตรงนั้นจริงๆ คุณไปเลย ทำให้เต็มที่ อย่างน้อยถึงมันไปไม่ถึงฝันจริงๆ มันก็ยังมีเส้นทางซ้ายหรือขวาให้ได้เลือกในอนาคต ดีกว่าคุณฝันแล้วไม่ทำอะไร อยู่เฉยๆ
บีน ย้ำว่า มันเป็นจังหวะชีวิตของคน ต้องใช้คำว่า พระเจ้าสร้างมาให้เขาเป็นอย่างนี้แล้ว แน่นอนว่าทุกคนต้องผ่านการซ้อมหนัก แต่มันต้องมีลิขิตฟ้าที่แรงกว่าคนอื่นถึงจะขึ้นมาจุดนี้ได้จริงๆ ซึ่งลิซ่า นิชคุณ หรือแบมแบม คือ คนเหล่านั้น
กลับจากเกาหลีแล้วเลือกทางซ้าย-ขวาของตัวเองอย่างไร
หลังกลับมาก็ได้ทำงานแสดงต่อ แต่ก็ยังอินกับการร้องเพลงอยู่ จึงได้เรียนปริญญาโท เกี่ยวกับการจัดการธุรกิจบันเทิง แล้วตัดสินใจทำตามความฝันผ่านการเรียน คือ ทำวิทยานิพนธ์ ศึกษากระบวนการทั้งหมดว่า "กว่าจะมาเป็นเพลงหนึ่งเพลง หรือเป็นศิลปินคนหนึ่ง ต้องทำอะไรบ้าง" โดยตัดสินใจกับที่บ้านว่าขอเอาเงินที่เก็บจากการเป็นนักแสดงมาลงทุน
เราเริ่มจากการสมมติว่าเราเป็นค่ายๆ หนึ่ง แล้วทำทุกอย่างเองทั้งหมด ทำตั้งแต่ 0 – 100 ไปหาศิลปิน ซึ่งจะหาก็ลำบาก เลยเป็นศิลปินเอง แล้วเริ่มหาโปรดิวเซอร์ หานักแต่งเพลง เพราะส่วนตัวแต่งได้เพียงเนื้อร้อง แต่แต่งทำนองไม่ได้ จากนั้นก็เริ่มถ่ายมิวสิกวิดีโอเอง จ้างพีอาร์เอง สุดท้ายความทุ่มเททั้งหมดก็ออกมาเป็นเพลง เธอ...ฉันตลอดไป กลายเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีชีวิต ให้ผู้คนสัมผัสได้เต็มๆ ว่า เราทำอะไรมาบ้าง
ค่าลงทุนโปรดักชันมันไม่ถูก ต้นทุนสมัยก่อน ประมาณ 800,000 บาท เฉพาะทำเพลงก็ 80,000 บาท แต่ตอนนี้มันถูกลงเพราะคู่แข่งเยอะ แต่ก็ถือว่าเป็นค่าเรียนรู้ ถามว่ามันคุ้มไหมทั้งยอดวิว ยอดไลก์ที่ได้กลับมา บอกเลยว่า ไม่คุ้มหรอกครับ แต่คุ้มที่สุด คือ การได้รู้ทุกอย่างที่เราอยากรู้
ภาพ : Been Julasak Hankunaseth
กว่าจะเป็นศิลปินไทยกับศิลปินเกาหลีต่างกันอย่างไร?
หลังจากได้ไปสัมผัสการทำงานที่เกาหลี แม้จะระยะสั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าศิลปินไทย จุดเริ่มต้นส่วนใหญ่ต้องหน้าตาดี ซึ่งตรงนี้เรามองว่าต่างจากเกาหลี เพราะของเขาคือ กว่าจะเป็นศิลปินได้ต้องผ่านมาหลายด่านมากคนที่ผ่านมาได้ คือ หัวกะทิทั้งนั้น
เวลาเขาจะแสดง อย่างท่าเต้น บางท่าก็ไม่ได้ยาก แต่เขาทำได้ดีมากด้วยความเป็นทีม เรานั่งดูเขาแสดงคอนเสิร์ตแล้วเห็นไลน์เต้นเดียวกันหมดเลย องศายกมือเท่ากันหมด เราก็คิดในใจว่า เฮ้ย เขาทำได้อย่างไร มันไม่ได้มาง่ายๆ แน่นอน มันต้องผ่านการซ้อม การดูวิดีโอที่กว่าองศามือจะเท่ากัน เขาทำงานกันเป็นมืออาชีพจริงๆ
มุมมองที่เปลี่ยนไปหลังออดิชันที่เกาหลี?
แม้ว่าจะไม่ผ่านการออดิชัน แต่ระหว่างเก็บตัวฝึกซ้อมก็ได้มีโอกาสไปสัมผัสวัฒนธรรมของการทำงานของวงการเพลงเกาหลี ทั้งไปดูหลังเวทีคอนเสิร์ต ไปเยี่ยมชมค่ายชื่อดังอย่าง JYP Entertainment และ SM Entertainment ก็ทำให้วิธีมองธุรกิจแบบเป็นดาราเปลี่ยนไป ตอนอยู่เมืองไทย เรารู้สึกว่าดาราก็คือดารา เป็นคนที่ดังในประเทศ มีคนยกย่อง ดูดี แต่ที่เกาหลีดาราของเขาให้เกียรติทีมงานทุกคน
เสร็จงานแล้วทุกคนก็จะมาเข้าแถว รอขอบคุณทีมงานตั้งแต่ช่างไฟยันโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ทำให้เรารู้สึกคิดกลับไปเลยว่า การเป็นศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง ก็คืออาชีพหนึ่งที่หากคุณไม่มีคนเบื้องหลัง คุณก็ไม่มีทางขึ้นมาตรงนี้ได้ แต่บังเอิญว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ทำให้คนมีความสุขเท่านั้นเอง ผู้คนถึงชื่นชอบคุณ
นับเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราได้ปรับมุมมองของเป้าหมายในสายอาชีพนักร้องหรือนักแสดง เพราะมันไม่ใช่แค่ความดัง แต่เป็นการได้เห็นว่างานที่เราทำออกไป ทำให้คนมีความสุข แค่นั้นก็พอแล้วหรือเปล่า แล้ววันหนึ่งเรื่องดังมันเป็นดวงของคน
เพลงคุณอาจจะดี นักวิจารณ์ทุกคนชื่นชมว่าดีหมด แต่เพลงคุณอาจจะไม่ดังมาก ขณะที่เพลงบางเพลงไม่มีอะไรเลย ฟังก็ไม่เข้าใจแต่ก็ดังได้ ความดังมันไม่มีสูตรตายตัว แต่การจะทำให้คนมีความสุขมันพอจะมีสูตรที่ทำได้
อย่างแรก คือ เราต้องมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ในการทำงาน ไม่ใช่การโชว์ในสิ่งที่เรามี แน่นอนว่า คนที่ไปดูคอนเสิร์ต ไม่ใช่แค่ต้องการไปฟังเพลงเพราะๆ เพราะอยากฟังแค่นั้นเปิดเพลงฟังที่บ้านก็ได้ แต่เราต้องใส่อินเนอร์ ให้ความสนุก สร้างเพอร์ฟอร์มที่มอบความสุขของคุณส่งไปหาคนดูของคุณให้ได้ ทุกข์ก็ทำให้เขาหาย เครียดก็ทำให้เขาลืมสิ่งที่กังวลไป มีความสุขอยู่แล้วก็ทำให้มีความสุขมากขึ้นไปอีก