วานนี้ (19 พ.ค.2562) ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ค่อนข้างมากเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการพูดว่า ส.ว. 25 คน มีอำนาจถอดถอน ส.ส.ได้ตาม มาตรา 82 ซึ่งเป็นอำนาจใหม่ที่บัญญัติขึ้น
ผมเกรงว่าจะเป็นการทำให้หลายท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนไป เพราะในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้น จึงขออธิบายให้ทราบกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชา
- กลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (impeachment) แบบรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 นั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีแล้ว
- ม.82 ที่พูดๆ ถึงกันที่กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว.จำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา (เป็นที่มาของจำนวน ส.ว. 25 คน ที่พูดถึงกัน) เป็นเรื่องของการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ "ตรวจสอบคุณสมบัติ" ภายหลังการดำรงตำแหน่งแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ "การถอดถอนออกจากตำแหน่ง"
- การตรวจสอบคุณสมบัติตามข้อ 2. จะทำได้เฉพาะแต่กับสมาชิกของสภาตนเองเท่านั้น ไม่สามารถตรวจสอบข้ามสภาได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วย "การจัดกระบวนการภายในของสภาตนเอง" ซึ่งก็มีการบัญญัติไว้ชัดเจนใน ม.82 กล่าวคือ ส.ส.จะรวมชื่อกันยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้เฉพาะแต่สมาชิกภาพของเพื่อน ส.ส. ด้วยกันเอง ส่วน ส.ว.ก็เช่นเดียวกัน จะไม่สามารถมีกรณีที่ ส.ว. ยื่นตรวจสอบสมาชิกภาพของ ส.ส. ได้ ตามที่เข้าใจและแชร์กันในโลกออนไลน์
- การตรวจสอบคุณสมบัติภายหลังการดำรงตำแหน่งของ ส.ส. และ ส.ว. ทำนองเดียวกับ ม.82 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีมานานแล้ว ฉบับปี 40 และ 50 ก็มี หาใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร