วานนี้ (7 พ.ค.2562) คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ขององค์การสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานประจำปี 2019 ความหนา 1,500 หน้า ซึ่งเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ 145 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า การทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ การทำประมงและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นตัวการที่ทำให้ธรรมชาติถูกทำลายอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์
รายงานฉบับนี้ ย้ำว่า มนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธรรมชาติลดน้อยลง โดยพืชและสัตว์มากกว่า 5 แสนสายพันธุ์บนบก อาจเผชิญกับภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัยในระยะยาวและมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้พืชและสัตว์มากกว่า 1 ล้านสายพันธุ์ ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ โดยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าร้อยละ 40 ของสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับปะการัง ร้อยละ 33 ของทั้งโลกและสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม มากกว่า 1ใน 3 ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงนี้ด้วย
ยกตัวอย่างการกระทำของมนุษย์ที่ทำให้พืชและสัตว์ มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เช่น การล่าช้างป่าเพื่อตัดงาไปขายในประเทศโมซัมบิก พบว่า ในเวลาเพียงแค่ 3 ปี ในระหว่างปี 2552-2554 ช้างป่าในโมซัมบิกเพียงประเทศเดียวถูกฆ่าประมาณ 7,000 ตัว โดยยังไม่นับรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ทำให้พืชและสัตว์หลายสายพันธุ์ค่อยๆ ลดจำนวนลง เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้
ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้โดยเร็ว มิฉะนั้นโลกอาจจะเผชิญกับหายนะ
เมื่อ 6 เดือนก่อน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี เตือนว่า โลกมีเวลาอีกเพียง 12 ปี ที่จะหลีกเลี่ยงหายนะจากภาวะโลกร้อน โดยต้องทำให้อุณหภูมิโลกสูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยไอพีซีซีเน้นไปที่รัฐบาลทั่วโลกว่าจะต้องลงมือทำทันทีและใช้นโยบายที่ทำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะตอนนี้อุณหภูมิโลกสูงไปแล้ว 1 องศาเซลเซียส