ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กฟน.โต้ขึ้นค่าไฟช่วงหน้าร้อน ย้ำจ่ายแพงเหตุแอร์ทำงานหนัก

เศรษฐกิจ
28 เม.ย. 62
18:17
6,559
Logo Thai PBS
กฟน.โต้ขึ้นค่าไฟช่วงหน้าร้อน ย้ำจ่ายแพงเหตุแอร์ทำงานหนัก
ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากเกิดความสงสัยเหตุใดค่าไฟฟ้าช่วงหน้าร้อนแพงกว่าปกติ ทั้งที่มั่นใจไม่ได้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การไฟฟ้านครหลวงโต้กระแสข่าวขึ้นค่าไฟ พร้อมชี้แจงสาเหตุหลักมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักและกินไฟมากขึ้น

คอมเพรสเซอร์แอร์ที่ทำงานหนัก ไม่มีการตัด เพราะยังทำอุณหภูมิโดยรอบไม่ได้ในหน้าร้อน โดยอุณหภูมิที่ต่างกันทุก ๆ 1 องศาเซลเซียส มีผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เป็นคำชี้แจงส่วนหนึ่งจากนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หลังประชาชนจำนวนมากเกิดข้อสงสัยเมื่อเห็นบิลค่าไฟช่วงหน้าร้อน ทั้งที่เปิดแอร์เวลาเดิมแต่ค่าไฟกลับเพิ่มขึ้นมาก ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีแอร์ อาจต้องสำรวจตู้เย็นที่อาจกินไฟ หากมีพฤติกรรมชอบเปิดตู้เย็นบ่อย ๆ และตุนอาหารในปริมาณมาก หรือขอบยางตู้เย็นชำรุด รวมถึงพฤติกรรมในการเปิดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นทิ้งไว้

ใช้ไฟพุ่ง ทำลายสถิติปี 59

อุณหภูมิสูงกว่าปีก่อนยิ่งทำให้การใช้ไฟมากขึ้น รวมถึงห้างร้าน อาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่ระดมใช้เครื่องปรับอากาศ ทำให้ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น และทำลายสถิติเก่าปี 2559 แล้ว 2 ครั้ง ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 9,525.93 เมกะวัตต์ และมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 7 เมื่อจำนวนหน่วยที่ใช้มากขึ้น หากใช้เกิน 150 หน่วย หน่วยที่เกินจะถูกคิดค่าไฟแพงขึ้น จาก 3.24 บาท เป็น 4.22 บาท จึงทำให้รู้สึกว่าค่าไฟแพงมากขึ้นไปอีก

ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่หมายถึงต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ใช้กับงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน ปรับขึ้นเมื่อเทียบก่อนหน้านั้นหน่วยละ 4.30 สตางค์ อาจมีผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มอีกเล็กน้อย ทุกปัจจัยผนวกกันทำให้ค่าไฟฟ้าที่ต้องเจอช่วงหน้าร้อนนี้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในช่วงอื่น

แอร์รุ่นยอดฮิตขาดตลาด

นายวุฒิชัย ทองสวัสดิ์ เจ้าของร้านษมา อะไหล่แอร์ บอกว่า อากาศที่ร้อนจัดทำให้มีลูกค้ามากขึ้น เฉลี่ยวันละ 10 เครื่องต่อวัน จากเดิมวันละ 3-4 เครื่อง จนรุ่นยอดนิยม 2-3 ยี่ห้อขาดตลาดประมาณ 2 สัปดาห์ ยังไม่มีกำหนดว่าจะเข้ามาที่ร้านเมื่อใด บางคนรอไม่ไหวต้องยอมสั่งซื้อยี่ห้ออื่นไปก่อน

ขณะที่นายสมบูรณ์ ท้วมเจริญ ช่างแอร์ บอกว่า ช่วงนี้มีลูกค้าติดต่อล้างแอร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10 หลังคาเรือน บางบ้านติดแอร์มากกว่า 1 เครื่อง และยังมีลูกค้าที่ติดตั้งใหม่ เฉลี่ยวันละ 2-3 เครื่อง ส่วนราคาที่ขายในตลาดค้าส่ง สูงขึ้นเฉลี่ย 1,000-2,000 บาทต่อเครื่อง ขึ้นอยู่กับขนาดบีทียู โดยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศ ขนาด 9,000 บีทียู ไม่เพียงพอสำหรับทำความเย็นในบ้าน จึงแนะนำให้ลูกค้าใช้ขนาด 12,000 บีทียูขึ้นไป เฉลี่ยราคาพร้อมติดตั้งอย่างน้อย 18,000 บาท

นายไมตรี ทองขาว ตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ บอกว่า หากลูกค้าต้องการเครื่องปรับอากาศรุ่นยอดนิยม ที่ผลิตจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ต้องรอประมาณ 1 สัปดาห์กว่าสินค้าจะเข้ามาในร้าน เพราะความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 70 จากเดือนมีนาคมที่มียอดขายสูง 100 เครื่อง ส่วนราคาขายปลีกเครื่องปรับอากาศ ปรับขึ้นเฉลี่ยเครื่องละ 200 บาท

คาดยอดขายแอร์เติบโต 15%

ด้านนายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ส.อ.ท ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเรื่องกำลังการผลิต เพราะไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศอันดับ 2 ของโลก มีกำลังการผลิตประมาณ 15 ล้านเครื่องต่อปี ใช้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 10 ส่วนกรณีที่ลูกค้าต้องรอสินค้า อาจเป็นปัญหาการขนส่งและการบริหารสต็อกของร้านค้ามากกว่า

ภาคเอกชนยังคาดการณ์ว่า ปีนี้ยอดขายเครื่องปรับอากาศที่อยู่อาศัย ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15 จากมูลค่าตลาด 2.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยทุกปีที่อยู่ที่เลขหลักเดียว หรือประมาณร้อยละ 5-6 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง