ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อุดช่องโหว่? เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

เศรษฐกิจ
22 เม.ย. 62
13:43
871
Logo Thai PBS
อุดช่องโหว่? เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
กรมสรรพากรประกาศแจ้งหลักเกณฑ์ยกเว้นและจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากใหม่ จนทำให้เกิดความตื่นตระหนก แม้ยืนยันภายหลังว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอัตราการจัดเก็บใด ๆ แต่ประกาศนี้อาจหวังเก็บบิ๊กเดต้า อุดรูรั่วภาษีค้าขายออนไลน์

แม้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ประสานเสียงชี้แจงว่า ไม่ต้องตกใจกับประกาศใหม่ของกรมสรรพากร เพราะไม่ได้เรียกเก็บภาษีอะไรเพิ่มจากดอกเบี้ยเงินฝาก ทุกอย่างยังคงเดิม แต่ในรายละเอียดทำให้สับสนพอสมควร

สรรพากรกำลังทำอะไร

สรรพากรประกาศตั้งแต่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ยังยกเว้นรายรับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทแรกตามเดิม แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำส่งข้อมูล จากเดิมธนาคารหักภาษีดอกเบี้ยรวมทุกบัญชีเกิน 20,000 บาท และส่งให้กรมสรรพากร เปลี่ยนมาให้ผู้ฝากเงินแจ้งความประสงค์ต่อธนาคาร ว่ายินยอมให้ธนาคารเป็นคนส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบว่ามีผู้ใดควรต้องเสียภาษีบ้าง

 

สาเหตุปรับรูปแบบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งพยายามช่วยลูกค้าคนรวยหลบเลี่ยงเสียภาษีเงินฝาก เช่น เปิดแบบแยกหลายบัญชี หรือแนะนำให้ปิดบัญชี และเปิดบัญชีใหม่เมื่อดอกเบี้ยใกล้ครบ 20,000 บาท ทำให้การเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเก็บดอกเบี้ยได้เพียงปีละ 1,000 ล้านบาท หากเปลี่ยนวิธีนำส่งข้อมูลใหม่จะช่วยให้เก็บภาษีได้เพิ่มทวีคูณเป็น 2,000 ล้านบาท

 

มีแค่คนรวยที่ฝากเงินเกิน 4 ล้านบาทต่อปี หรือแค่เปอร์เซ็นต์เดียวของบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้น ต้องมีเงินจำนวนมาก หรือเป็นคนมีเงินฝากประจำ ส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่กระทบเสียภาษีแน่นอน

 

สำหรับเงินฝากทั้งหมด 99 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่ 86.87 เปอร์เซ็นต์ มีเงินไม่ถึง 50,000 บาท อาจดูขัดแย้งกับที่ระบุว่าหวังเก็บภาษีได้มากถึงเท่าตัว แต่บัญชีเงินฝากมีข้อกำหนดว่า ให้เจ้าของบัญชีเงินฝากทุกคนต้องไปลงชื่อยินยอมกับธนาคารพาณิชย์ที่เปิดบัญชีก่อน ถึงได้สิทธิรับการยกเว้นไม่เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาทแรก เท่ากับว่าหากใครเปิดไว้หลายธนาคารต้องไปแจ้งยินยอมให้ครบทุกแห่ง

 

ขีดเส้น 6 วันแจ้งสิทธิเว้นภาษี

กรมสรรพากรยังขีดเส้นให้เจ้าของบัญชีแจ้งยินยอมได้ระหว่างวันที่ 15-20 พ.ค.นี้ หากใครไม่ได้แจ้ง หรือแจ้งไม่ทัน จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี แม้จะได้ดอกเบี้ยแค่ปีละ 10-20 บาท ก็ต้องถูกธนาคารบังคับหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้กรมสรรพากรทันที ส่งผลให้เจ้าของบัญชีต้องรีบแจ้งยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยและค่อยขอคืนภาษีภายหลัง

การขีดเส้นเวลาจำกัดให้เร่งแสดงตัวตนเพื่อหวังได้รับยกเว้นภาษีเหมือนเดิม เชื่อว่าจะเป็นการจูงใจให้คนเร่งทำตาม แต่ถ้าจะพิจารณาจริง ๆ บางคนไม่อยากเสียเวลา เชื่อว่าหลายคนไม่ทราบและปล่อยถูกหักเงินไป เนื่องจากเสียดอกเบี้ยน้อยและหลายคนมีทางเลือกลงทุนอย่างอื่นแล้ว หรือหากเป็นบัญชีเงินฝากยังมีบัญชีอีกหลายประเภทไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย เช่น เงินฝากของธนาคารออมสิน ที่ใช้ชื่อว่าบัญชีเผื่อเรียก, เงินฝากออมทรัพย์ ธกส., เงินฝากออมทรัพย์สหกรณ์ และเงินฝากประจำบางประเภท

 

อุดรูรั่วภาษีค้าขายออนไลน์

ภาษีที่เก็บเพิ่มอาจไม่ได้มากอย่างที่กระทรวงการคลังแจ้งเหตุผลไว้ ซึ่งกรมสรรพากรอาจมองเป็นผลพลอยได้ แต่เหตุผลจริง ๆ ของการรวมข้อมูลบัญชีเงินฝากทั้งหมดไว้ที่กรมสรรพากร น่าจะเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ คือการได้รับบิ๊กเดต้าของเงินที่แต่ละคนถืออยู่เพื่อรองรับการค้าขายที่ไม่เข้าระบบ เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ มีมาตรการให้สถาบันการเงินแจ้งข้อมูลบัญชีรับจ่ายที่มีความถี่และยอดเงินมากมาแล้ว ครั้งนี้น่าจะเป็นอีกมาตรการที่เพิ่มเติมเข้ามา เชื่อว่าเป็นการปรับตัวอย่างต่อเนื่องของกรมสรรพากร พยายามอุดรูรั่วทางภาษีที่ไม่ใช่แค่ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก แต่เป็นภาษีการค้าขาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง