5 ปีก่อนอุตสาหกรรมนี้เหมือนกับรถไฟที่นักลงทุนตกขบวนไม่ได้ แต่วันนี้หลายคนอยากจะลงจากขบวน
ปรากฎการณ์หน้าจอโทรทัศน์ฟรีทีวี ในอดีตที่มีเพียง 5 ช่องหลัก เปลี่ยนเป็นความหลากหลายที่รับชมได้มากกว่า 20 ช่อง ตั้งแต่ 5 ปีก่อน แม้จะมีผู้ชมนิยมในกลุ่มช่องรายการแต่ละประเภท แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าทุกช่อง จะไปรอด ในธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์
เมื่อดูการครอบครองสื่อโทรทัศน์กว่า 20 ช่องพบว่า ปัจจุบันมี 4 กลุ่มทุนหลัก ที่ร่วมประมูลกับ กสทช. และยังเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์มากกว่า 1 ช่อง โดยเฉพาะช่อง 3 ที่เป็นเจ้าของช่องมากสุด ตามอัตราการถือครองเต็มเพดานที่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของสุงสุด 3 ช่อง
ขณะที่กลุ่มเนชั่น มีอยู่ 2 ช่องเดิม แต่ปีที่แล้วโดนสปริงนิวส์ซื้อหุ้น ทำให้ขณะนี้กลุ่มสปริงส์ฯ เป็นเจ้าของรวม 3 ช่องเช่นกัน ขณะที่ กลุ่มบริษัททรูคอร์ปเรชั่น และ กลุ่ม บริษัท อสมท. เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ อย่างละ 2 ช่อง
แต่เมื่อดูผลประกอบการเฉพาะ 10 อันดับแรกของกลุ่มทีวีดิจิทัลในช่วง 4 ปีของการประกอบกิจการ จะพบว่า มีเพียง 3 ช่อง ที่มีรายได้เกินกว่า 5,000 ล้านบาท โดยช่อง 3 วัดจากช่อง 33 ที่มีคนนิยมดูมากที่สุด
ขณะที่ช่องอื่นมีรายได้อยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับรายจ่ายและค่าบริหารจัดการที่แต่ละช่องต้องใช้จ่ายมากกว่า 800 ล้านบาท ถึงมากกว่า 1,500 ล้านบาทในแต่ละปี
และมื่อดู 5 ช่องยอดนิยม ที่แม้จะมีจำนวนผู้ชมสูงสุดในปี 2561 แต่พบว่า มีอย่างน้อย 2 ช่อง คือ ช่อง 3 และ ช่องโมโน ที่ผลประกอบการยังอยู่ในเกณฑ์ขาดทุน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัลดิจิทัล 5 ปีมานี้ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเสนอขอให้ กสทช. และ คสช.ช่วยเหลือ
ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลืออีก 2 งวด รวมกว่า 13,000 ล้านบาท และการที่ กสทช. ช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่ายเสาสัญญาณทีวีดิจทัล ให้ทั้ง 22 ช่อง เป็นเงินกว่า 18,000 ล้านบาท ต่อไปอีก 9 ปี 6 เดือน จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาประกอบกิจการ
อ่านข่าว : กสทช.ขีดเส้น 10 พ.ค. ผู้ประกอบการยื่นคืนช่องทีวีดิจิทัล
การตัดสินใจว่าจะคืนช่องหรือไม่ ยังไม่ชัดเจนแต่นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายกิจการองค์กร ช่อง 3 ยอมรับว่า รูปแบบของผู้ชมเปลี่ยนแปลงไปจากการยึดเฉพาะหน้าจอโทรทัศน์ ไปสู่การรับชมผ่านทางออนไลน์มากขึ้น
แนวโน้มที่อาจมีสถานีโทรทัศน์ยุติกิจการ อาจทำให้ช่องสัญญาณหายไปจากลูกค้าที่หยุดประกอบกิจการ และทำให้เจ้าของโครงข่ายต้องประชุมร่วมกันกลางเดือน พ.ค.นี้
เพื่อพิจารณาแนวทางหรือกำหนดท่าทีร่วมกัน
กลุ่มผู้ประกอบการ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การออกมาตรการที่รวดเร็วและกำหนดให้ ผู้ประกอบการแจ้งเจตจำนงค์ว่า จะยุติประกอบกิจการหรือไม่ ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ สำหรับการธุรกิจที่ลงทุนในอุตสาหกรรมสื่อฯ อาจเรียกได้ว่า เร็วเกินไปที่จะตัดสินใจ บนปัจจัยเสี่ยงที่ยังไม่ชัดเจนต่อกติกาของ กสทช.ในการกำหนดแนวทางช่วยเหลือที่เป็นรายละเอียดชัดเจน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดของกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล