ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พม.โพลชี้ "ผู้สูงอายุ" มีความสุขที่สุดจากการดูแลเอาใจใส่ของลูกหลาน

สังคม
11 เม.ย. 62
20:02
1,069
Logo Thai PBS
พม.โพลชี้ "ผู้สูงอายุ" มีความสุขที่สุดจากการดูแลเอาใจใส่ของลูกหลาน
พม.Poll ร่วมกับนิด้าโพล เผยผลสำรวจ "สร้างสุขผู้สูงวัย ใส่ใจไร้ความรุนแรง" พบผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ต้องการการดูแลจากลูกหลาน และจะมีความสุขมากที่สุดเมื่อได้รับความเอาใจใส่ ขณะที่พบคนในครอบครัวกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นการทำร้ายจิตใจ

วันนี้ (11 เม.ย.2562) พม.Poll ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "สร้างสุขผู้สูงวัย ใส่ใจไร้ความรุนแรง" จากประชาชนจำนวน 4,800 คน ทั่วประเทศ

เมื่อถามถึงสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการจากคนในครอบครัว ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.2 เลือกการแสดงออกด้วยการดูแล (การดูแลค่าใช้จ่าย การให้เงิน พาไปพบแพทย์ และพาไปทำธุระต่างๆ) ใกล้เคียงกับการแสดงออกทางคำพูด (การบอกรัก การทักทาย และการถามสารทุกข์สุกดิบ) ร้อยละ 38.2 รองลงมา ร้อยละ 22.1 คือ การแสดงออกด้วยการสัมผัส (การกอด หอม จูงมือ และบีบนวดคลายปวดเมื่อย)

สำหรับความสุขของผู้สูงอายุ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.8 ระบุว่า ความสุขทางจิตใจ อารมณ์ การได้รับการเอาใจใส่จากลูกหลาน รองลงมา ร้อยละ 25.5 เลือกความสุขทางร่างกาย มีสุขภาพดี ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ขณะที่ ร้อยละ 9.9 เลือกความสุขทางสังคม การทำประโยชน์ให้สังคม จิตอาสา ส่วนร้อยละ 7.7 เลือกความสุขทางการเงิน การมีเงินหรือทรัพย์สมบัติสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อถามถึงระดับความสุขของผู้สูงอายุเต็ม 10 คะแนน ค่าเฉลี่ยที่ได้เท่ากับ 6.61 คะแนน

 

คนในครอบครัวกระทำรุนแรงต่อผู้สูงอายุมากที่สุด

ขณะที่คำถามเกี่ยวกับผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ พบว่า ร้อยละ 52 คือ บุคคลในครอบครัว (พ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา ลูก หลาน) รองลงมา ร้อยละ 26.1 ได้แก่ บุคคลอื่น (คนแปลกหน้า มิจฉาชีพ) และร้อยละ 21.4 คือ บุคคลใกล้ตัว (ญาติ เพื่อนบ้าน เพื่อนสนิท)

ส่วนการกระทำความรุนแรงในผู้สูงอายุ ร้อยละ 35 คือ การทำร้ายจิตใจ รองลงมา ร้อยละ 31 การถูกทอดทิ้ง ขาดคนดูแล ต่อมา ร้อยละ 23.5 การทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 8.1 การทำร้ายทางเพศ และร้อยละ 2.1 การถูกล่อลวง และบังคับแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่สาเหตุหรือปัจจัยที่ผู้สูงอายุถูกกระทำความรุนแรง ร้อยละ 24.8 ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง รองลงมา ร้อนละ 23.1 ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ร้อยละ 13.6 ผู้ดูแลรู้สึกว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ ต่อมา ร้อยละ 11.7 ผู้ดูแลติดอบายมุข ร้อยละ 11.6 ความเครียดจากผู้ดูแล ร้อยละ 8.7 ต้องการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ และร้อยละ 6.3 ผู้ดูแลมีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอ

สิ่งที่จะทำ หากพบเห็นเหตุการณ์การกระทำความรุนแรงในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.3 เลือกแจ้งเหตุผ่านบุคคลหรือช่องทางต่างๆ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรสายด่วน 191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย, 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม, 1669 หน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉน ศูนย์นเรนทร และ 1567 ศูนย์ดำรงธรรม รวมถึงมูลนิธิต่างๆ ขณะที่ ร้อยละ 26.4 ระบุว่า เข้าไปช่วยเหลือ ร้อยละ 1.3 เลือกถ่ายภาพ คลิป หรือไลฟ์ ร้อยละ 1 เลือกเพิกเฉย ไม่สนใจ และ ร้อยละ 0.9 หลีกเลี่ยง เนื่องจากกลัวถูกลูกหลง

ส่วนแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาการกระทำความรุนแรงในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41 เลือกการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและการอบรมสั่งสอน ต่อมา ร้อยละ 38.9 ส่งเสริมการสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ ร้อยละ 35.8 ส่งเสริมให้ครอบครัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่ใช้ความรุนแรง ร้อยละ 32.8 ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาปลูกฝังทัศนคติไม่ใช้ความรุนแรงตั้งแต่เด็ก ขณะที่ ร้อยละ 24.9 เลือการบังคับใช้กฎหมาย มีบทลงโทษที่เด็ดขาด ส่วน ร้อยละ 19.4 รณรงค์ยุติปัญหาความรุนแรง และ ร้อยละ 13.2 เลือกจัดให้มีระบบหรือกลไกการเฝ้าระวังในชุมชน

เทคโนโลยีช่วยให้ใกล้ชิดลูกหลานได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับผลดีและผลเสียของเทคโนโลยีต่อผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เลือก ผลดี ร้อยละ 98.2 โดบระบุว่า ช่วยให้ผู้สูงอายุติดต่อกับลูกหลายได้ง่ายและสะดวกขึ้น ร้อยละ 69.9 รองลงมา ร้อยละ 11.5 สามารถติดตามข่าวสารทั่วไปได้สะดวกรวดเร็ว ร้อยละ 8.6 ทำให้เพลิดเพลิน และไม่เหงา ส่วน ร้อยละ 5.9 ระบุว่า ช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีสังคม และร้อยละ 4.1 ทำให้เป็นคนทันสมัย ลดช่องว่างระหว่างวัย

ส่วน ร้อยละ 97.1 เลือกผลเสีย โดยระบุเหตุผลว่า อาจถูกหลอกลวงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ร้อยละ 55.6 รองลงมา ร้อยละ 16.2 เสียสุขภาพ ร้อยละ 12.3 เสียค่าใช้จ่าย ร้อยละ 6.2 เสียสุขภาพจิต เกิดความเครียด ขณะที่ร้อยละ 5.6 ระบุว่า เสียสัมพันธภาพในครอบครัว ร้อยละ 2.6 เสียเวลา เสียงาน และร้อยละ 1.5 อาจจะเกิดอุบัติเหตุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง