จากกรณีตำรวจบุกค้น "มูลนิธิข้าวขวัญ" จ.สุพรรณบุรี ยึดกัญชา 200 ต้น และผลิตภัณฑ์จากกัญชาจำนวนมาก พร้อมเตรียมแจ้งข้อหาร่วมกันผลิตกัญชาและมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแก่เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งคนงานในมูลนิธิ ให้ปากคำว่า กัญชาทั้งหมดเป็นของ นายเดชา ศิริภัทร กรรมการบริหารมูลนิธิข้าวขวัญ
นายเดชา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวมานานกว่า 30 ปี มีแนวคิดเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ ทำให้มูลนิธิข้าวขวัญ เป็นที่รู้จักในฐานะองค์กรที่มีจุดยืนเรื่องการไม่ใช้สารเคมี ลดการผูกขาดจากกลุ่มทุน ด้วยการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ และระบบการปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ ปลอดสารเคมี เคยเป็นผู้เสนอโครงการนา 0 บาท คือการทำนาด้วยต้นทุน 0 บาท ตามหลักการเกษตรอินทรีย์
ปีที่ผ่านมา นายเดชา ได้ให้สัมภาษณ์กับคอลัมน์จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เกี่ยวกับความสนใจในกัญชาเพื่อรักษาโรค โดยออกตัวว่า สนใจการใช้พืชเป็นยาอยู่แล้ว ทำให้หันมาศึกษาวิจัยเรื่องกัญชาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน โดยทำเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับมูลนิธิ
นายเดชา ในวัย 70 ปี หันมาศึกษากัญชา และเริ่มพัฒนาเป็นยา ทดลองกับตัวเอง ที่มีอาการหลงลืม มือสั่น วุ้นตาเสื่อม ยืนยันว่า เมื่อใช้สารสกัดที่พัฒนาขึ้นเองด้วยเทคนิคง่ายๆ และเข้มข้นน้อยกว่าในต่างประเทศ เพื่อให้เหมาะกับคนไทย อาการต่างๆก็หายไป โดยศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ จนทำให้พบเทคนิคง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมาก และได้แจกจ่ายตัวยาไปตามวัด เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยนับพันชีวิต จนได้ชุดข้อมูล
นายเดชาให้สัมภาษณ์โดยย้ำว่า ไม่สามารถหยุดการศึกษาและพัฒนา เพื่อรอกฎหมายได้ กลัวว่าจะเสียชีวิตก่อน แต่อีกมุมหนึ่งก็เชื่อว่า แม้ว่าการผลักดันกัญชาเพื่อการแพทย์จะมีแต่คนเห็นด้วย แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ จะทำอย่างไรกับคนที่เสียประโยชน์ เช่น ถ้ากัญชารักษามะเร็งได้ แล้วบริษัทที่ทำคีโมขาย เข็มนึงเป็นแสนๆบาท จะคิดยังไงกับเรื่องนี้
ดูจะสอดคล้องกับ รสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า งานวิจัยที่ นายเดชา ทำไว้ถือเป็นงานวิจัยที่สำคัญที่ราชการควรมองเห็น แต่กลับถูกดำเนินคดีในช่วงที่มีการนิรโทษกรรม 90 วัน คือ ในช่วง 25 ก.พ.-25 พ.ค. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 แก้ไขปี 2562 สำหรับผู้ที่ครอบครองกัญชาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ไม่ต้องรับโทษ
รสนา ตั้งข้อสังเกตว่า นายเดชา ไม่ได้จำหน่ายยา หรือ กัญชา แต่เป็นการมอบให้วัดไปเป็นผู้แจกจ่ายแบบให้เปล่า แลกมาด้วยข้อมูลจากผู้ป้วยเหล่านั้น จึงเสนอให้ตำรวจพิจารณางดเว้นการจับกุมในช่วงนิรโทษกรรม และตั้งข้อสังเกตว่า การปลดล็อกนี้กำลังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ให้ผูกขาดทั้งการปลูก การสกัด และจำหน่าย หรือไม่ และอาจทำให้คนในสังคมที่กำลังวิจัยเรื่องนี้อยู่ เข้าใจว่า ต้องหยุด เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี
ขณะที่วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ที่คุ้นเคยกับ นายเดชามากว่า 30 ปี มองว่า การจับกุมนายเดชา เป็นเหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู ตั้งข้อสังเกตถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของรัฐ ว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนหรือไม่
เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องใช้กัญชารักษา ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่ารักษาพยาบาลแผนปัจจุบันที่ต้องจ่ายเป็นหลักแสนบาท