ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

#ThaiPBS เข้ม ติวนักข่าวระวังเสนอข่าวสร้างความขัดแย้ง

สังคม
4 เม.ย. 62
17:19
585
Logo Thai PBS
#ThaiPBS เข้ม ติวนักข่าวระวังเสนอข่าวสร้างความขัดแย้ง
ไทยพีบีเอส เปิดอบรมเฝ้าระวังการนำเสนอข่าวผ่านทุกช่องทาง หวั่นสร้างความแตกแยก ทำร้ายฝ่ายต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้ง

วันนี้ (4 เม.ย.2562) สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS จัดอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังการนำเสนอข่าวที่สร้างความขัดแย้งผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยมีบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว และช่างภาพ เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

นายพิภพ  พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากขณะนี้สภาพสังคมขยับไปสู่การแบ่งขั้ว แบ่งข้าง ซึ่งไทยพีบีเอสในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะต้องชัดเจนในบทบาทของเรา และผลักดันให้สังคมเดินหน้าสู่การมีส่วนรวม ผลักดันให้คนไม่ลังเลที่จะแสดงออกทางความคิดเห็น โดยสังคมประชาธิปไตยต้องเคารพซึ่งกันและกัน


ขณะเดียวกันก็กังวลกับ "ประทุษวาจา" หรือ Hate speech ซึ่งบางครั้งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่สร้างความขัดแย้ง ที่จะยกระดับเป็นความขัดแย้งทางการเมือง อาจทำให้ผู้คนออกมาเผชิญหน้ากันอย่างเมื่อปี 2553

ดังนั้น นักข่าวรุ่นใหม่จะได้มาเรียนรู้สถานการณ์ข่าวที่ไม่ปกติ เพื่อมีหลักในการรายงานข่าวที่แตกต่างจากการถ่ายทอดข้อมูล จากสนามสู่ประชาชน ซึ่งในบางครั้งเนื้อหาข่าวต่างๆ อาจถูกออกแบบมาเพื่อใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความรุนแรง และความขัดแย้งในสังคม

ส่วนนี้เราต้องหยิบบทบาทอีกด้านหนึ่ง คือ การเป็นนายทวาร (Gate keeper) เป็นผู้คอยตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นเท่าใด โดยข้อมูลที่ต้องระวังที่สุด คือ ข้อมูลและคำพูดเหมารวม ต่อมา คือ คำพูดที่ยุยงให้เกิดการแตกแยก แบ่งข้าง กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง และสุดท้าย คือ คำพูดที่มีเป้าหมายในการโจมตีบุคคลให้มีคุณค่าน้อยกว่ามนุษย์ปกติ 

สิ่งที่พูดคุยในวันนี้ เพราะไทยพีบีเอสรุ่นหนึ่ง เคยผ่านยุคความรุนแรงทางการเมือง ยุคกลุ่มสีเสื้อมาแล้ว แต่นักข่าวรุ่นใหม่ยังไม่เคยผ่านความซับซ้อนทางการเมือง จึงต้องให้รุ่นพี่กับรุ่นน้องมาเจอกัน โดยนำเคสที่ทำเองมามองอย่างเป็นรูปธรรม ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

ตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาเรียนรู้ร่วมกัน ในกรณีแหล่งข่าวเรียกคนกลุ่มหนึ่งด้วยภาษาที่ไม่สุภาพ มีการแลกเปลี่ยนว่า ควรจะปล่อยออกอากาศเพราะแหล่งข่าวเป็นคนพูด หรือไม่ควรจะปล่อย หรือปล่อยแต่มาเติมข้อมูล ห่อด้วยบริบทในตอนหลัง 


สำหรับหลักคิดสำคัญของเรา คือ เสรีภาพในการแสดงออกทั้งของเราและของประชาชน และต้องเท่าทันยุทธศาสตร์ของคนที่อยากจะใช้สื่อเป็นเครื่องมือ ในงานสื่อสาร โดยเราจะไม่ตกเป็นเครื่องมือให้กับคนกลุ่มนั้น

เราจะตั้งตัวไม่เลือกข้างอย่างชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายพูด แต่เราจะสรุปออกมาได้จากการห่อด้วยบริบท ผมเชื่อว่าสื่อสาธารณะจะเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องแยกแยะ คือ ข้อเท็จจริง ทัศนคติ ข้อกล่าวหา และข้ออ้าง โดยนักข่าวต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต้องหาข้อมูลตัวเลขจริง ไม่ประมาณตัวเลข ส่วนเรื่องทัศนคติต้องเปิดพื้นที่ฟังทัศนคติ แต่ขณะเดียวกันหากทัศนคตินั้นสอดแทรกความเกลียดชัง ที่อาจจะนำพาไปสู่การประทุษร้าย กรณีนี้ปล่อยให้ออกอากาศไม่ได้ โดยนักข่าวในสนามต้องวิเคราะห์ให้ได้ และตัดสินใจให้ชัดเจนบนพื้นฐานหลักการสำคัญของสื่อสาธารณะ

ในส่วนของไทยพีบีเอสจะช่วยกันตรวจสอบ เพื่อให้การนำเสนอข่าวเป็นไปโดยยึดหลักคิด การรักษาความเป็นมนุษย์ และเราจะทำข่าวโดยไม่ทำร้ายใคร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง