วันนี้ (11 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong ของนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยแพร่คลิปชื่อ "เสียงพะยูน" มีความยาวประมาณ 59 วินาที เป็นภาพของพะยูนกำลังนอนนิ่งบนพื้นทราย จากนั้นมีเสียงร้องดังเหมือนนกร้อง หรือคล้ายกับคนเป่านกหวีดดังต่อเนื่อง สลับกับเสียงหายใจของพะยูน จากนั้นพะยูนตัวนี้ก็พลิกตัวกลิ้งไปมา
จากการตรวจสอบ ที่มาของคลิปจาก Save the Dugong ระบุว่า SOUND ON! ที่ใกล้สูญพันธุ์ซึ่งเป็นหนึ่งในเสียงที่หาได้ยากที่สุดในมหาสมุทร พะยูน ตามองไม่ค่อยดีนัก แต่หูของพวกเขาไวมาก และเสียงน่ารักเหล่านี้เป็นวิธีที่พวกเขาสื่อสารกัน ลองจินตนาการว่าเสียงของเรือมีผลต่อความสามารถในการค้นหาซึ่งกันและกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อหลายปีก่อน ทีมนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาเสียงร้องของพะยูน โดยพบว่าช่วงความถี่ของเสียงร้องของพะยูนอยู่ที่ 3-8 kHz และระยะเวลาต่อเนื่องแยกออกเป็นช่วงสั้นที่ 100-500 ms และช่วงยาวซึ่งมีเสียงร้องนานกว่า 1000 ms
โดยโครงการนี้เป็นการศึกษาควบคู่กับการสำรวจประชากรพะยูนในทะเลไทย เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมของพะยูนว่ามีการสื่อสารระหว่างกันหรือไม่ รวมทั้งยังนำมาประยุกต์ เพื่อใช้ตรวจสอบติดตามพะยูน
ทั้งนี้จากรายงานสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2550-2554 สามารถสรุปภาพรวมสถานสถานภาพพะยูนในประเทศไทย มีประมาณ 200-250 ตัว บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เช่น จ.ตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
ส่วนบบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง พบพะยูนแพร่กระจายบริเวณเกาะปู เกาะศรีบอยา จ.กระบี่จำนวน 15-20 ตัว บริเวณอ่าวเจ้าไหม เกาะมุกต์ เกาะลิบง เกาะสุกร จ.ตรัง จำนวน 135-150 ตัว และบริเวณเกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล จำนวน 5-10 ตัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทช.เผยข่าวดีผลสำรวจ“พะยูน”ทะเลตรังพบ 169 ตัว