ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รมว.แรงงาน เยี่ยมกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน "เชียงใหม่"

สังคม
11 มี.ค. 62
13:57
718
Logo Thai PBS
รมว.แรงงาน เยี่ยมกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน "เชียงใหม่"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เยี่ยมกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ยืนยันสานต่ออาชีพนอกระบบ มีหลักประกันทางสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

วันนี้ (11 มี.ค.2562) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เปิดงานโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานแนะแนวอาชีพผู้ที่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงาน กิจกรรมส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งกรมการจัดหางาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น พร้อมกับเยี่ยมกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ณ ที่ทำการกลุ่มณัฐรดาผ้าฝ้ายเดินเชือก หมู่ที่ 3 ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยมี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัด
เชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมประกอบด้วย ผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้ผ่านการฝึกอบรมกิจกรรมเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ รวมทั้งสิ้น 50 คน

ทั้งนี้ การอบรมเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 สิทธิและหน้าที่ของแรงงานนอกระบบ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 การพัฒนาและส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน การรวมกลุ่ม การต่ออายุกลุ่มบุคคลที่รับงานไปทำที่บ้าน และการกู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั้งยังมีการแสดงผลิตภัณฑ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มบุคคล ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่มีความเข้มแข็ง และการแสดงนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยว่า แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานส่วนใหญของประเทศมีจำนวนถึง 21.2 ล้านคน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลมีนโยบายให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงระบบสวัสดิการภาคสังคมต่างๆ ทัดเทียมกับแรงงานในระบบ โดยกระทรวงแรงงานได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบให้มีอาชีพ มีรายได้ มีหลักประกันทางสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดในการเพิ่มทักษะฝีมือ การส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาด การสร้างหลักประกันในการดำรงชีพเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การคุ้มครองและสร้างความปลอดภัยในการทำงาน จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญเป็นแรงงานนอกระบบ จำนวน 624,616 คน หรือร้อยละ 60.18 และแรงงานในระบบ จำนวน 413,365 หรือร้อยละ 39.82 โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม จำนวน 379,962 คน นอกภาคเกษตรกรรม จำนวน 263,435 คน ทำงานในอุตสาหกรรมการขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ฯ มากที่สุด รองลงมาคือก่อสร้าง

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านให้แก่กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน คือกลุ่มพัฒนาสตรีล้านตอง ซึ่งได้รับอนุมัติให้กู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านของกรมการจัดหางาน จำนวน 150,000 บาท ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ มีผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรายกลุ่มจำนวน 15 กลุ่ม รายบุคคล จำนวน 33 คน

 

 

 

จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ภาคีเครือข่ายหมู่บ้านต้นลาน หมู่ที่ 7 ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีประกันสังคมถ้วนหน้าหรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มีผู้ประกันตนในความรับผิดชอบ รวมทั้งสิ้น 389,851 คน แยกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 228,504 คน มาตรา 39 จำนวน 92,689 คน มาตรา 40 จำนวน 68,658 คน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้าน ประกันสังคมถ้วนหน้า” โดยประสานงานร่วมกับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครแรงงาน เพื่อสร้างเครือข่ายประกันสังคมจนผลักดันให้เกิดการประกันสังคมถ้วนหน้า ปัจจุบันมีประชากรอายุระหว่าง 15-60 ปี จำนวน 265 คน เป็นแรงงานนอกระบบที่มีคุณสมบัติสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 133 คน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชาสัมพันธ์และรับสมัครผู้ประกันตนกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบประกันสังคมครบถ้วน 100%

 

 

 

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะได้เยี่ยมชมการแสดงผลิตภัณฑ์และการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ประจำปีงบประมาณ 2562 เป็นกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านและกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีความเข้มแข็ง จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มณัฐรดาผ้าฝ้ายเดินเชือก เป็นงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกระเป๋าเดินเชือก เลขที่ 4/3 หมู่ 3 ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2560 มีสมาชิก 10 คน รายได้เฉลี่ย 500,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 80,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานเป็นร้านค้า ช่องทางจำหน่ายสินค้า คือตลาดนัด ถนนคนเดิน ไลน์ เฟซบุ๊ก และตามออเดอร์ลูกค้า

2. กลุ่มสตรีล้านตอง เป็นงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เลขที่ 135 หมู่ที่ 1 ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2551 มีสมาชิกจำนวน 23 คน รายได้เฉลี่ย 90,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 70,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานจากผู้ให้งานที่เป็นบุคคลธรรมดา 3. กลุ่มอิษดากระเป๋าผ้า เป็นงานตัดเย็บกระเป๋าผ้า เลขที่ 35 หมู่ 2 ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จดทะเบียน จัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2559 มีสมาชิกจำนวน 10 คน รายได้เฉลี่ย 150,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 30,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานจากผู้ให้งานที่เป็นบุคคลธรรมดา ช่องทางจำหน่ายสินค้า คือตลาดนัด ถนนคนเดิน ไลน์ เฟซบุ๊ก และตามออเดอร์ลูกค้า

 

 

 

4. กลุ่มวนิดาแฮนด์เมด เป็นงานเครื่องประดับแฮนด์เมดจากเชือกเทียน เช่น สร้อย กำไล แหวน ต่างหู เป็นต้น เลขที่ 20/1 หมู่ 4 ต.สบเปิง อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2549 มีสมาชิกจำนวน 5 คน รายได้เฉลี่ย 70,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 40,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานเป็นร้านค้า ช่องทางจำหน่ายสินค้า คือตลาดนัดถนนคนเดิน ไลน์ เฟซบุ๊ก และตามออเดอร์ลูกค้า และ 5. กลุ่มกิจกรรมเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ เป็นกลุ่มต่อยอดจากกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน (กลุ่มณัฐรดาผ้าฝ้ายเดินเชือก) โดยนำวัสดุเหลือใช้คือผ้าฝ้ายมาสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการนำเศษผ้าไปขาย โดยการประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาชุดพื้นเมือง โมบายและพวงกุญแจช้าง เป็นการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ แก่กลุ่มฯ และขยายไปยังบุคคลที่ว่างงาน ตกงานในหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนสมาชิกขณะนี้ 28 คน มีรายได้เฉลี่ย 20,000 บาท/เดือน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากไม่ได้รับโอกาสและไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการประกอบอาชีพ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และการสร้างหลักประกันที่ดีทางสังคมก็จะไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศได้ ดังนั้น แรงงานนอกระบบจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ มีความรู้ มีสมรรถนะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งมีการต่อยอดความรู้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพมีความสามารถในการแข่งขัน สามารถตอบสนองตลาดได้ต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง