วานนี้ (10 มี.ค.2562) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การลงคะแนนเลือกตั้ง 2562” เกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.96 ทราบว่าต้อง “กาบัตรลงคะแนน” คนละกี่ใบ ขณะที่ ร้อยละ 48.04 ระบุว่า ไม่ทราบ ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ทราบ พบว่า ร้อยละ 92.77 ระบุคำตอบได้ถูกต้องว่าจะต้อง “กาบัตรลงคะแนน” เพียง 1 ใบ และร้อยละ 7.23 ระบุว่า กาบัตรลงคะแนนคนละ 2 ใบ ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้อง
ด้านการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันจะเป็นแบบ “ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.80 ระบุว่า ทราบ ขณะที่ร้อยละ 48.20 ระบุว่า ไม่ทราบ
สำหรับการรับทราบหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ พรรคการเมือง ที่ท่านจะเลือก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.03 ระบุว่า ทราบหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ พรรคการเมือง และร้อยละ 37.97 ระบุว่า ไม่ทราบหมายเลขผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ พรรคการเมือง
15 คำถาม 15 คำตอบ คู่มือเลือกตั้ง 2562
แม้จะเหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ แต่ประชาชนบางกลุ่มยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบใหม่อยู่หลายประเด็น ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมคำถาม 15 ข้อ เพื่อนำมาไขข้อสงสัยก่อนก้าวสู่คูหาเลือกตั้งในวันจริง
1. Q : ต้องกาบัตรลงคะแนนกี่ใบ
A : กาบัตร 1 ใบ เพื่อเลือก ส.ส.เขต
แม้การเลือกตั้งในครั้งนี้ จะให้ประชาชนได้ลงคะแนนเสียงกาบัตรด้วย บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว แต่กาบัตรเพียงใบเดียวนั้นได้ผลถึง 3 อย่าง
- ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้ง จะได้เป็น ส.ส.ตัวแทนของเขต
- คะแนนที่เลือกจะถูกนำไปรวมทั้งประเทศ เพื่อคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
- ส.ส.ทั้งจากระบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จะไปรวมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
2. Q : ผู้สมัคร ส.ส.เขตแต่ละพรรค หมายเลขเหมือนกันไหม
A : ไม่เหมือนกัน
ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกัน คนละหมายเลข ในอดีตคนไทยคุ้นชินกับการจำหมายเลขพรรค เนื่องจาก ผู้สมัคร ส.ส.ที่มาจากพรรคเดียวกันจะใช้หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ แต่การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ แม้ ส.ส.จะมาจากพรรคเดียวกัน แต่อยู่คนละเขตก็อาจได้หมายเลขต่างกัน
3. Q : ตรวจสอบหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขตตัวเองได้ที่ไหน
A : แอปพลิเคชัน SMART VOTE เว็บไซต์ กกต. และหน้าเขตเลือกตั้ง
4. Q : เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 เปิด-ปิดลงคะแนน เวลาเท่าใด ?
A : ตั้งแต่เวลา 08.00 -17.00 น.
5. Q : ใครมีคุณสมบัติเลือกตั้งได้
A: ผู้มีคุณสมบัติเลือตั้งได้ คือ บุคคลที่เลือกตั้งได้ มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย หรือต้องได้รับสัญชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วัน
ส่วนผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ได้แก่
- ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- คนที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
- คนที่ถูกคุมขังตามคำสั่งศาล
- คนวิกลจริต
6. Q : วันเลือกตั้งต้องเตรียมอะไรไปบ้าง
A : บัตรประชาชน บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง
สำหรับหลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้งคือบัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) แต่ถ้าหาไม่เจอสามารถใช้บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยต้องมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
7. Q : ไปเลือกตั้ง ต้องทำอะไรบ้าง
A : ตรวจสอบรายชื่อ ยื่นบัตรประชาชน ลงลายมือชื่อ รับบัตรเลือกตั้ง เข้าคูหา กากบาทลงคะแนนเพียงช่องเดียว แล้วหย่อนบัตรลงหีบ
ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ป้ายประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง- ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาด้านบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมรับบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ คือ บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต
- "กากบาท" ลงคะแนน เข้าคูหาตรวจสอบหมายเลขผู้สมัคร โลโก้พรรค และชื่อพรรคของผู้สมัครที่ต้องการเลือกแล้วลงคะแนนโดยการทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย ไม่เกินหนึ่งหมายเลข หรือ ทำเครื่องหมาย X ใน "ช่องไม่เลือกผู้สมัครใด" ที่มุมด้านขวาล่าง หากไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครใด
- หย่อนบัตรลงหีบ เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้ง
8. Q : เข้าคูหาแล้ว ห้ามทำอะไรบ้าง
A : ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกจากเขตเลือกตั้ง หรือจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกต และห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว รวมทั้งห้ามนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า ลงคะแนนหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครใด ต้องนำบัตรเลือกตั้งหย่อนลงหีบบัตรด้วยตนเอง
9. Q :กาช่องผิด ทำอย่างไร
A : ทำใจ กลายเป็นบัตรเสีย
เพราะบัตรเลือกตั้งต้องไม่มีการขีดทับ ร่องรอยของการแก้ไข หรือมีเครื่องหมายมากกว่าหนึ่งเครื่องหมาย รวมทั้งการกามากกว่า 1 ช่อง นับว่าเป็นบัตรเสียทั้งหมด
10. Q : ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีผลอย่างไร
A : ถูกจำกัดสิทธิ 5 ข้อ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
- ยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
- สมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
- ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
- ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
11. Q : เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ต้องเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่ใด
A : เลือกผู้สมัคร ส.ส. ในเขตตามทะเบียนบ้าน
กรณีตัวอย่าง พี่โจ้ มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเลือกตั้ง ขอนแก่น เขต 2
แต่พี่โจ้ มาทำงานอยู่ที่สมุทรปราการ จึงต้องลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขต 6 พระประแดง พี่โจ้ ต้องตรวจสอบผู้สมัคร ส.ส. ที่ลงสมัคร ขอนแก่น เขต 2
แล้วกาลงคะแนนเพื่อเลือก ส.ส.ขอนแก่น เขต 2
12. Q : เลือกตั้งแล้ว นับคะแนนที่ไหน
A : จะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง
หลังจากปิดคูหาเลือกตั้งแล้ว จะมีการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง โดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว เพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้งที่อาจเกิดจากการขนย้ายหีบบัตรให้การนับคะแนนเสร็จสิ้น และสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้รวดเร็ว
กรณีบัตรเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง หรือบัตรเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ หรือบัตรเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรบัตรเลือกตั้งจะถูกใส่ซองส่งไปรษณีย์เพื่อส่งไปนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งในเขตที่เรามีปรากฎชื่อ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและจะเปิดมานับหลัง 17.00 ของวันที่ 24 มี.ค. เช่นกัน โดยหากจัดส่งไปถึงสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งนั้น หลังจากเริ่มการนับคะแนนแล้ว ให้ถือว่าบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย
13. Q : เลือกตั้งแล้ว นับคะแนนตอนไหน
A : เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น.
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตจะนับคะแนนหลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนแล้ว หลังจากนั้น กกต.เขต จะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขต และประกาศผลรวมคะแนนของเขตและปิดประกาศไว้ในสถานที่ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อกกต.ประจำจังหวัด และรายงานต่อ กกต. เพื่อประกาศและรับรองผลการเลือกตั้ง
14.Q : ผู้สมัคร ส.ส.ได้คะแนนสูงเท่ากัน หรือน้อยกว่า VOTE No ตัดสินอย่างไร
A : ผู้สมัคร ส.ส.คะแนนสูงสุดเท่ากัน ต้องจับสลาก แต่หาก VOTE No มากกว่าคะแนนของผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดต้องเลือกตั้งใหม่
ผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดเท่ากันหลายคน ให้มีการจับสลากต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้ที่จับสลากได้ข้อความว่า "ได้รับเลือกตั้ง" ผู้นั้นจะได้เป็น ส.ส.ของเขต
กรณี คะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. (Vote No) มากกว่าคะแนนของผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้น จะต้องทำการเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัคร ส.ส.คนเดิมของทุกพรรคจะไม่สามารถลงสมัครได้อีก และคะแนนของผู้สมัครชุดเดิมจะไม่นำไปนับรวมเพื่อคำนวณเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค
15. Q : รู้ผล ส.ส.เขต รู้ผลนายกฯ คนใหม่ทันที?
A : หลังจากรู้ผลคะแนนของ ส.ส.เขตแล้ว คะแนนเสียงของ ส.ส.เขตแต่ละพรรคจะนำไปรวมในระดับประเทศ เพื่อคำนวนเก้าอี้ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากนั้น ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้ง ส.ว. จะร่วมกันโหวตนายกรัฐมนตรีต่อไป