สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม อย่ามัวอาลัย คิดร้อนใจไปเปล่า
ในวันที่เคร่งเครียด เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ หรือสับสน หากได้ลองฟังเพลงที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นฮิปฮอป เคป็อป เพลงร็อค หรืออินดี้ ก็อาจเป็นตัวช่วยสำคัญในการเติมพลัง ให้ก้าวผ่านวันร้ายๆ ไปได้ ตามทฤษฎีของ "ดนตรีบำบัด"
ข้อมูลจากเว็บไซต์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การนำดนตรีมาใช้บำบัดด้วยเทคนิคที่เรียกว่า "วันทูไฟว์" ซึ่งพบว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลายด้าน ทั้งด้านความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การไหลเวียนของโลหิต ความดันโลหิต การเต้นของชีพจรและการตอบสนองของม่านตา และผลของดนตรียังมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงของสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ สติสัมปชัญญะและจินตนาการ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ดนตรีบำบัด เปิดเผยถึงการคิดค้นเทคนิควันทูไฟว์ว่า จุดเริ่มต้นของการคิดค้นเทคนิคนี้ มาจากการสอนเปียโนที่มักทำให้เกิดความเครียดกับทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งหลักการที่จะทำให้ผู้เรียนเล่นเปียโนได้ดี โดยไม่กดดัน ก็คือห้ามดุด่า และให้ผู้เรียนเลือกเพลงที่จะเล่นเอง โดยได้คิดค้นเทคนิคใหม่ คือ ใช้ตัวเลข หนึ่งถึงห้าแทนตัวโน้ต ทำให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดสามารถเรียนรู้หรือเข้าถึงได้โดยง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านคนตรีมาก่อน
ในภายหลัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ดนตรีบำบัดได้นำเทคนิคนี้มาทดลองใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตที่โรงพยาบาลศรีธัญญา พบว่าได้ผลดี ทางโรงพยาบาลจึงใช้เป็นแนวทางการบำบัดด้วยดนตรี สำหรับเทคนิควันทูไฟว์สามารถใช้ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตหลายประเภทด้วยกัน เช่น ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า เด็กออทิสติก เด็กดาวซินโดรม เป็นต้น
เลือกเพลงที่ใช่ สร้างเพลลิสต์ได้ด้วยตัวคุณ
ในปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ที่มีความเครียด หรือป่วยซึมเศร้า เนื่องจากดนตรีบำบัดสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางในคนทุกเพศทุกวัยและดนตรียังช่วยกระตุ้นพัฒนาการในเด็กปกติได้โดยการผ่อนคลายความตึงเครียด เพิ่มความสุขและความมั่นใจ
แต่จะฟังเพลงอย่างไรให้คลายกังวลและหายเศร้า ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ น.ส.วิพุธ เคหะสุวรรณ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้
น.ส.วิพุธ ระบุว่า มีงานที่เปรียบเทียบการใช้ดนตรีบำบัดกับคนที่เป็นซึมเศร้าในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเปรียบเทียบ 3 กลุ่ม
- กิจกรรมดนตรีบำบัดแบบ active คือ ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการสร้างเสียงดนตรี เล่นดนตรี
- กิจกรรมดนตรีบำบัดแบบ receptive คือ ฟังเพลง วิเคราะห์เพลง (พูดคุยถึงเนื้อหาหรือความหมายของเพลง) แต่งเพลง และดนตรีเพื่อการผ่อนคลาย
- การให้การปรึกษา/ทำจิตบำบัดทั่วไป
ระยะเวลาทำการบำบัดอยู่ที่ 12 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง และทำโดยนักดนตรีบำบัด ผลที่ได้อาจจะไม่มีความต่างอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างแต่ละกลุ่ม แต่ดนตรีบำบัดทั้ง 3 กลุ่มก็มีแนวโน้มคะแนนที่ลดความรุนแรงของโรคซึมเศร้า เพิ่มคุณภาพชีวิตได้ แต่กลุ่มที่ 2 มีคะแนนที่สูงขึ้นเร็วกว่ากลุ่มที่ 1 แต่โดยรวมแล้วกลุ่มที่ 1 มีประสิทธิภาพในการบำบัดมากกว่า
น.ส.วิพุธ ยังระบุอีกว่า แม้การรักษาด้วยวิธีดนตรีบำบัดนั้นจะไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหายได้ทันที แต่เป็นการผ่อนคลายจิตใจ และป้องกันการเกิดความเครียด และความกังวลสะสม โดยผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว หากต้องการรับการรักษาด้วยวิธีดนตรีบำบัดอย่างจริงจัง ควรติดต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยตรง แต่หากเป็นผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวลจากสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็สามารถใช้ดนตรีบำบัดจากเพลงที่ตนเองชื่นชอบได้
ตามหลักของดนตรีบำบัดแล้ว สามารถใช้เพลงที่ตนเองชื่นชอบ และคุ้นเคยได้ แต่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วย ควรเป็นเพลงที่มีพลังบวก
หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด ระบุถึงแนวทางการเลือกเพลงที่จะฟังว่า ต้องคำนึงถึงลักษณะเพลงด้วย โดยอาจเป็นเพลงบรรเลง จังหวะช้า ใช้เครื่องดนตรีน้อย จังหวะสม่ำเสมอ เสียงไม่หวือหวา อาจมีเสียงธรรมชาติร่วมด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ ต้องเป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อหากระทบจิตใจตนเอง หลีกเลี่ยงการฟังเพลงตอกย้ำความรู้สึกเศร้า เสียใจ และควรเลือกเพลงที่ Positive
การสร้างเพลลิตส์ให้ตัวเอง อาจแบ่งเพลงออกเป็นกลุ่ม เช่น เพลงที่ฟังแล้วกระฉับกระเฉง เพลงที่มีความหมายดี เพลงที่เป็นตัวแทนเรื่อง ความทรงจำดีๆ ในอดีต เพลงที่ฟังแล้วสงบนิ่งสบายใจ โดยแต่ละกลุ่มควรมีประมาณ 5 เพลง
ฟังเพลงแล้วเครียด สัญญาณเตือนพบแพทย์
น.ส.วิพุธ ย้ำว่า หากไม่มีใครให้คำปรึกษา ไม่มีใครคอยรับฟัง รู้สึกเครียด กังวลหรืออึดอัด วิธีการคลายเครียดที่ใกล้ตัว คือ การฟังเพลง โดยอาจจะร้องเพลง หรือลงเรียนดนตรีเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความเครียด ลดความกังวัลใจ แล้วอาจนำไปสู่การหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาได้
ภาพ : เฟซบุ๊ก Music Therapy Thailand
แม้ว่าการฟังเพลงเป็นตัวช่วยให้เกิดความผ่อนคลายความเครียดได้ดี แต่ผู้ฟังเพลงต้องสังเกตอารมณ์ของตนเองไปด้วย หากรู้สึกว่าฟังแล้วเครียดกว่าเดิม ควรเข้ารับการรักษาจากนักดนตรีบำบัดโดยตรง หรือเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
ขณะที่ สาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ได้เปิดให้บริการดนตรีบำบัดสำหรับผู้ที่มีความเครียด และต้องการรักษาด้วยวิธีนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะจัดการรักษา 13-15 ครั้ง ใน 3 เดือน หรือแล้วแต่อาการของผู้เข้ารับการบำบัด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะมีการประเมินอาการและพูดคุยปัญหาก่อน เพื่อจัดคอร์สให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลสำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-800-2525 ต่อ 4113
วันนี้...คุณฟังเพลงที่ชอบแล้วหรือยัง ?
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แอปพลิเคชัน "สบายใจ" ตัวช่วยเช็กสถานะทางใจ
หยุด! วัยรุ่นไทย "ฆ่าตัวตาย" ทุกปัญหามีค่าต่อการรับฟัง