ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แอปพลิเคชัน "สบายใจ" ตัวช่วยเช็กสถานะทางใจ

สังคม
9 มี.ค. 62
07:40
6,735
Logo Thai PBS
แอปพลิเคชัน "สบายใจ"  ตัวช่วยเช็กสถานะทางใจ
แอปพลิเคชัน "สบายใจ" (SabaiJai) ตัวช่วยเช็กสถานะทางใจ ประเมินความรู้สึกผ่านแบบคัดกรอง 9 ข้อ พร้อมเสนอแนวทางการปฏิบัติตนของผู้ที่ทำแบบคัดกรองเอง หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เพื่อให้ก้าวผ่านความเศร้า กังวลใจ ความโกรธ หรือความสับสนไปได้ด้วยการเติมพลังใจที่ดี
คุณกำลังเศร้า กังวลใจ โกรธ หรือรู้สึกสับสนหรือไม่ ?

แอปพลิเคชัน "สบายใจ" (SabaiJai) แอปพลิเคชันสำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พัฒนาโดยภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ช่วยคุณได้

หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในโทรศัพท์สมาร์ตโฟนแล้ว เข้าไปหน้าเมนูหลัก จะพบตัวเลือก 5 หมวด ได้แก่

1.ไขคำถาม...ไขข้อข้องใจ

ซึ่งมีคำตอบเกี่ยวกับคำถาม ประกอบด้วย การฆ่าตัวตาย เกิดได้อย่างไร ลักษณะความทุกข์ใจที่พบได้ ลักษณะของโรคทางกายที่มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พฤติกรรมที่แสดงความตั้งใจทำร้ายตนเองชัดเจน สัญญาณเตือน ปัญหาการฆ่าตัวตาย แก้ไข และป้องกันได้ รวมทั้งมีวิดีโอให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอีกด้วย

2.แบบคัดกรอง

สำหรับแบบคัดกรองนั้น มีการแบ่งเพศและช่วงอายุของผู้ที่ต้องการทดสอบ โดยแบ่งเป็นเพศชาย และหญิง ในช่วงอายุ 15-24 ปี 25-59 ปี และ 60-65 ปี เมื่อเลือกเพศและช่วงอายุแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ทำแบบคัดกรอง 9 ข้อ โดยให้ตอบว่าใช่ หรือ ไม่ใช่ สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการพยายามทำร้ายตนเอง โดยสามารถใช้แบบคัดกรองดังกล่าวสังเกตตนเอง และคนใกล้ชิด ที่มีความเสี่ยงทำร้ายตนเองได้ สำหรับคำถามทั้ง 9 ข้อ มีดังนี้

 

  1. ใน 1 เดือนที่ผ่านมา มีการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก (คนรัก สุขภาพ ทรัพย์สิน เงินทอง การเรียน) ใช่หรือไม่
  2. ใน 1 เดือนที่ผ่านมาทรมารกับโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังใช่หรือไม่
  3. ใน 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นทุกข์อย่างมมากจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปใช่หรือไม่
  4. ใน 1 เดือนที่ผ่านมา มีการวางแผนถึงวิธีการทำร้ายตนเองใช่หรือไม่
  5. ได้เขียนจดหมายสั่งลาหรือบอกให้คนใกล้ชิดทราบถึงความพยายามทำร้ายตนเองใช่หรือไม่
  6. ใน 1 ปีที่ผ่านมา เคยทำร้ายตนเองหรือพยายามทำร้ายตนเองหรือไม่ 
  7. ขณะนี้กำลังคิดทำร้ายตนเองใช่หรือไม่
  8. คิดจะทำร้ายตนเองโดยไม่ให้ใครทราบใช่หรือไม่


เมื่อทำแบบคัดกรองเรียบร้อย จะปรากฏผลการทำแบบคัดกรอง โดยหากได้ผล "มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง" แอปพลิเคชันจะมีคำแนะนำปรากฏอยู่ด้านล่างของผลแบบคัดกรอง ซึ่งเป็นคำแนะนำ 2 แบบ คือ

สำหรับผู้ที่ที่ทำแบบคัดกรองเอง แบบออกเป็น 4 ความรู้สึก ได้แก่

  1. เศร้าเสียใจ 
    -ไม่ตำหนิ และยอมที่จะให้อภัยตนเอง ที่ทำไม่ได้อย่างที่ต้องการ
    -คนเราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบไปทุกเรื่อง ขอแค่ยอมรับและรักตัวเองได้ก็ดีที่สุดแล้ว
    -หากิจกรรมทำ เพื่อให้เหนื่อยและดึงความคิดเกี่ยวกับความเศร้าอกไปจากตนเองชั่วคราว
    -คิดหาวิธีแก้ปัญหา หลายๆ วิธี ถ้าคิดไม่ออก อาจไปปรึกษาคนใกล้ชิดหรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่า
    -ไม่คิดหนีปัญหา แต่ตั้งใจที่จะต่อสู้กับปัญหาด้วยสติ และเชื่อมั่นว่าจะชนะ และผ่านไปได้ด้วยดี
  2. วิตกกังวล
    -คิดอย่างเป็นระบบ จัดลำดับก่อนหลัง ไม่ควรทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
    -หากเรื่องที่ทำเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล
    -ทบทวนแผนชีวิต วิธีบริหารเวลา บริหารชีวิตให้มีความพร้อม มั่นคง ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต
    -บอกกับตนเองว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ผิดพลาดบ้างก็ได้ ให้สนุก เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้
    -ควรค่อยๆ คิดหาทางออกของปัญหาจากแหล่งความรู้ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
  3. หงุดหงิด/โกรธ
    -สร้างความผ่อนคลาย เมื่อรู้สึกโกรธ เช่น ออกกำลังกาย นึกถึงเรื่องที่ทำให้รู้สึกสบายใจหรืออาจใช้วิธีการนับเขถอยหลัง 1-10
    -บอกตัวเองให้นิ่ง โดยการหายใจเข้า-ออกช้าๆ สักพักค่อยหายใจตามปกติ ไม่ใส่ใจกับคำพูดเสียดสีเหน็บแนม
    -ถ้ารู้สึกจะระเบิดอารมณ์ ให้แยกตัวออกมานั่งในอากาศปลอดโปร่งเย็นสบาย จิบน้ำให้สดชื่นดีขึ้น
    -อย่าเก็บความขุ่นเคืองไว้กับตนเอง ควรพูดคุย ระบายความโกรธให้กับคนที่ไว้ใจหรือเขียนเรื่องที่โกรธลงกระดาศ
    -คิดทบทวนหาเหตุผลค้นหาความจริง เรื่องที่ขัดแย้งกันนั้นว่า ตนผิดหรือถูกและหาทางประนีประนอมกัน
    -ทำให้ยอมรับความจริง ในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้ว ควรหันมาปรับตัวอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเข้าใจหรือหาตัวเลือกอื่นเป็นการชดเชย
    -ขอคำปรึกษาคนที่ไว้ใจ้ได้หรือผู้เชียวชาญ เมื่อรู้สึกว่าควบคุมตัวเองไม่ได้
  4. สับสน
    -หยุดความคิดสับสน ไว้สักพัก แล้วกลับมาตั้งสติด้วยการดูลมหายใจตนเอง จนกว่าอารมณ์จะสงบ
    -ตั้งคำถามกับตนเอง ถึงเป้าหมายในชีวิต จัดเรียงลำดับความสำคัญ แล้วมุ่งมั้นทำสิ่งสิ่งนั้นให้สำเร็จ
    -เชื่อมั่นในความสามารถของตนเองและนำพลังนี้มาสร้างสรรค์พัฒนาความแข็งแกร่งของจิตใจ
    -เขียนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกสับสน จะช่วยให้เห็นมุมมองบางอย่างหรือทางออกเพิ่มมากขึ้น
    -ถ้ามีงานมากเกินไป ให้เลือกทำงานที่สำคัญและด่วนที่สุดก่อน อย่านำตัวไปผูกพันกับงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
    -พูด ระบาย ปรึกษากับคนที่ไว้ใจหรือขดความเห็นและแนวคิดจากเพื่อน ครอบครัว ผู้ที่มีประสบการณ์


สำหรับผู้ที่ทำแบบคัดกรองสำหรับคนใกล้ชิด 

  1. คอยสังเกตอาการเขาอยู่เสมอ แต่อย่าเข้าใกล้มากเกินไป เพราะจะทำให้เขารู้สึกอึดอัด
  2. เมื่อเขาระบายความรู้สึกให้ตั้งใจฟัง ควรถามกลับบ้าง เพื่อแสดงถึงความใส่ใจและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ
  3. ให้กำลังใจ ปลอบใจ จนเขาผ่อนคลาย หรือแนะนำให้เขาไปปรึกษาคนที่ไว้วางใจ
  4. ลองถามว่า มีการเตรียมอาวุธที่จะทำร้ายตนเองหรือไม่ หากพบว่ามีจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอยู่ในสายตา และให้เขาอยู่ห่างจากอาวุธที่เตรียมไว้ทำร้ายตนเอง นอกจากนี้ไม่ควรพูดท้าทายหรือซ้ำเติม เพราะจะเป็นการผลักดันให้เขาลงมือทำ
  5. ถ้าพบว่าเขามีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

3.ใครสักคนที่อยากคุย

 ในหมวดนี้จะเป็นการเพิ่มรายชื่อใครสักคนที่อยากคุยด้วย โดยให้เติมชื่อและเบอร์โทรศัพท์ลงไป 

 

4.สายด่วนสุขภาพจิต

หมวดนี้ เมื่อกดเลือกเข้าไป แอปพลิเคชันจะต่อสายไปยังสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ทันที เพื่อให้ผู้เข้าใช้งานได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์

 

5.เติมพลังใจ...กันเถอะ 

เป็นหมวดที่มีข้อคิดหรือคำคมในเชิงบวก ให้ผู้เข้าใช้งานแอปพลิเคชันสามารถกดเข้าไปเพื่อ่านและเติมเต็มพลังใจได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  • หากคุณกำลังเศร้า คิดวนเวียน โลกนี้ไม่สดใส ความสุขรอบตัวกำลังหายไป
  • หากคุณมองไม่เห็นทางออก
  • คำคมโดนใจ
  • คำสอนศาสนา

 

ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสบายใจ (SabaiJai) ได้แล้ววันนี้ ผ่านสมาร์ตโฟนทั้งระบบ iOS และ Android เพื่อเช็กสถานะทางใจได้ทันที

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวผ่าน ความเครียด แบบไหน?

หยุด! วัยรุ่นไทย "ฆ่าตัวตาย" ทุกปัญหามีค่าต่อการรับฟัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง