วันนี้(4 มี.ค.2562) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศ ไทย ว่า จากการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ปี 2560-2561 ถือเป็นครั้งแรกที่นำข้อมูลภาพดาวเทียม Sentinel-2 มีความละเอียดจุดภาพ 10 เมตร มาใช้เป็นหลักในการจัดทำข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลภาพดาวเทียมที่มีความละเอียดมากที่สุด นับตั้งแต่มีการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทย ควบคู่กับจัดทำข้อมูลชนิดป่าของประเทศไทยปี 2561 เพื่อสำรวจและวิเคราะห์สถานภาพของทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ป่าไม้ของไทยและจัดทำฐานข้อมูลป่าไม้ที่เป็นมาตรฐานมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ พบพื้นที่ป่าไม้ของไทยปี 2560-2561 มีทั้งหมดกว่า 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ ดังนี้
- ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 38 ล้านไร่ หรือร้อยละ 64.17
- ภาคกลาง มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 21.37
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 15 ล้านไร่ หรือร้อยละ 15.03
- ภาคตะวันออก มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 4 ล้านไร่ หรือร้อยละ 21.93
- ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 20 ล้านไร่ หรือร้อยละ 59.08
- ภาคใต้ มีพื้นที่ป่าไม้กว่า 11 ล้านไร่ หรือร้อยละ 24.28
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้
ชี้ปี 2561 ป่าเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนไร่
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559-2560 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ ทำให้การป้องกันและรักษาทรัพยากรป่าไม้เป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญ พร้อมทั้งได้จัดทำข้อมูลชนิดป่าของประเทศไทยปี 2561 เพื่อสำรวจและวิเคราะห์สถานภาพของทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ป่าไม้ของประเทศไทยและจัดทำฐานข้อมูลป่าไม้ที่เป็นมาตรฐาน มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ
สรุปข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้พ.ศ.2560–2561 มีจำนวน 102,488,302.19 ไร่ หรือร้อยละไม้ 31.68 หนึ่งปีผ่านมา ระหว่าง 2560–2561 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 331,951.67 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง 101,178,945.22 ไร่
ภาพ : กรมป่าไม้
4 จังหวัดไม่เหลือพื้นที่ป่าไม้แล้ว
ทัังนี้หากเทียบตั้งแต่ปี 2516- 2561 ป่าไม้ไทยในปี 2516 เคยมีถึงร้อยละ 43.21 และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสัมปทานป่าปี 2531 ป่าไม้เหลือร้อยละ 28.03 ปี 2541 ร้อยละ 25.28 และแม้จะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นในปี 2551 เป็นร้อยละ33.44 แต่ระหว่างปี 2556 เริ่มลดลงร้อยละ 31.62 ปี 2559ร้อยละ 31.58 และปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 31.68
จังหวัดที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 60 ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน
จังหวัดที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 40-60 ได้แก่ กำแพงเพชร นครนายก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สระบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ มุกดาหาร เลย จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้วประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ชุมพร ตรัง นราธิวาส พังงา ภูเก็ต ยะลา สตูล สุราษฎร์ธานี
ภาพ : กรมป่าไม้
จังหวัดที่ป่าไม้ น้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ พิจิตร ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ กระบี่ ระยอง นครศรีธรรมราช ปัตตานี พัทลุง สงขลา
ส่วนจังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง
โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน นำมาสนับสนุนแนวทางการจัดการป่าไม้ของไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และใช้ติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพ : กรมป่าไม้