ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.เตือนทำกิจกรรมกลางแดดจัดนาน เสี่ยงเกิด "ฮีทสโตรก"

สังคม
4 มี.ค. 62
08:41
1,028
Logo Thai PBS
สธ.เตือนทำกิจกรรมกลางแดดจัดนาน เสี่ยงเกิด "ฮีทสโตรก"
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดจัดเป็นเวลานาน เพราะเสี่ยงเป็นโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก พร้อมแนะดื่มน้ำให้เพียงพอและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบสถิติในปี 2559 เสียชีวิต 60 คน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปีนี้ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันต่อจะเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่าย โดยกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเป็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่น ผดแดด บวมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด ส่วนอาการที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งถือว่าเป็นภัยใกล้ตัว ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง และอาจเสียชีวิตได้ทันที

โดยมี 6 กลุ่มเสี่ยงอันตรายในช่วงหน้าร้อน คือ ผู้ที่ทำงานหรือกิจกรรมกลางแดด, เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว, คนอ้วน, ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก พร้อมแนะนำประชาชนไม่ออกกำลังกาย หรือทำงานกลางแดดจัดเป็นเวลานาน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 8-10 แก้ว ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง สวมเสื้อผ้าเหมาะสมกับสภาพอากาศและระบายเหงื่อได้ดี สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่อากาศร้อน

 

หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น นอนราบและยกเท้าทั้ง 2 ข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669

ทั้งนี้ ข้อมูลเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2558-2560 มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในปี 2559 จำนวน 60 คน ซึ่งเป็นปีที่มีอากาศร้อนกว่าทุกปี สำหรับหน้าร้อนปี 2561 พบผู้เสียชีวิต 18 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 30 มีอาชีพรับจ้าง และร้อยละ 15 เป็นเกษตรกร โดยมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 27.8 และมีพฤติกรรมเสี่ยงคือการดื่มสุราเป็นประจำ ร้อยละ 27.7 และเสียชีวิตสูงสุดในเดือนเมษายน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง